PCOS โรคไม่ใหม่ แต่สาวๆควรรู้ไว้

   

มารู้จักกับ PCOS กันก่อน

       ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome) หรือ PCOS กลุ่มอาการที่รังไข่มีถุงน้ำหลายใบ เป็นความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ หรือฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน แอนโดรเจน และอินซูลินในร่างกายอยู่ในภาวะที่ไม่สมดุล โดยจะพบถุงน้ำหลายใบอยู่ในรังไข่ที่อาจเกิดเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ เมื่อถุงน้ำเข้าไปเบียดรังไข่ทำให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ สิวขึ้น ขนดก มีบุตรยาก เป็นต้น

 

สาเหตุของโรคมาจากไหนนะ ?

 สาเหตุของการเกิดภาวะนี้ทางการแพทย์ยังไม่ทราบแน่ชัด อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือความผิดปกติของหลายระบบในร่างกายที่ส่งผลให้เกิด PCOS ได้ เช่น

  • ภาวะดื้ออินซูลิน  เป็นภาวะเอนไซม์อินซูลินในกระแสเลือดมีมากกว่าปกติ ซึ่งจะไปกระทบกับการสร้างถุงน้ำในรังไข่ การตกไข่ ลักษณะทางกายภาพ น้ำหนักตัวของผู้ป่วย ภาวะดื้ออินซูลิน จึงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิด PCOS 

  • ภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล  แพทย์ยังไม่แน่ใจกับภาวะฮอร์โมนไม่สมดุลว่าเกิดมาจากสาเหตุใด แต่อาจเกิดจากความผิดปกติของรังไข่เอง ต่อมฮอร์โมนชนิดต่างๆ หรือสมองที่ควบคุมฮอร์โมน ทำให้ฮอร์โมนมีปริมาณเปลี่ยนไป 

                  - ทั้งจากการสร้างฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติ

                  - ฮอร์โมนที่กระตุ้นการตกไข่มีมากเกินไป

                  - โปรตีนในเลือดอย่าง SHBG (Sex hormone binding globulin) ที่ควบคุมปฏิกิริยาฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนมีปริมาณต่ำกว่าปกติ

                  - ฮอร์โมนโพรแลกตินสูงกว่าปกติ ที่ช่วยกระตุ้นต่อมน้ำนมให้หลั่งน้ำนมในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งกรณีนี้อาจพบในบางรายเท่านั้น

  •  พันธุกรรม หากใครมีครอบครัวทางสายเลือดเป็น PCOS จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าคนอื่นๆด้วย

 

อาการเบื้องต้นที่ทำให้เป็น PCOS

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น รอบเดือนมาไม่ตรง  รอบเดือนมาเดือนเว้นเดือน  รอบเดือนมาไม่ติดต่อกันนานเกิน 3 รอบ ประจำเดือนมามากเกิน หรือมากะปริบกะปรอย รอบเดือนมานานเกินไป และรอบเดือนมาไม่เกิน 6 – 8 ครั้งต่อปี

  • มีเลือดออกจากช่องคลอดในลักษณะคล้ายประจำเดือน หลังประจำเดือนหมดแต่เลือดจะออกน้อยกว่าและเป็นติดต่อกัน 3 – 4 วันแล้วแต่คน หรืออาจมีเลือดปนออกมากับปัสสาวะเล็กน้อยพร้อมกับปวดหน่วงๆที่ท้องข้างซ้ายหรือขวาแล้วแต่บุคคลเช่นกัน

  • มีฮอร์โมนเพศชายสูงเกิน ทำให้มีขนดกขึ้นบริเวณขา แขน ใบหน้า ร่องอก ท้องส่วนกลาง เสียงเปลี่ยนในบางคน สิวขึ้นมากกว่าปกติ ศีรษะล้าน เป็นต้น

  • น้ำหนักตัวเกิน หรือภาวะอ้วนลงพุง ทำให้มีการดื้อต่อน้ำตาลอินซูลิน จึงไปเพิ่มอาการของ PCOS ได้

  • มีบุตรยาก เนื่องมาจากฮอร์โมนเพศที่ผิดปกติ และมีภาวะไม่ตกไข่ในบางเดือน หรือไม่ตกไข่เลยในบางรายจึงทำให้ตั้งครรภ์ได้ยาก

 

ให้แพทย์ตรวจเพื่อความมั่นใจ

  1. แพทย์จะสอบถามประวัติเบื้องต้น อย่างเช่น ประวัติการตั้งครรภ์  การมีประจำเดือน การใช้ยาคุมกำเนิดและยาฮอร์โมน น้ำหนักตัว ประวัติโรคประจำตัว หรืออาการอื่นๆที่อาจเกี่ยวข้อง

  2. ตรวจร่างกายภายนอก ด้วยการตรวจลักษณะการกระจายของขน สิว ผิวมัน ความดันโลหิต ส่วนสูงและน้ำหนัก

  3. ตรวจภายใน อย่างการตรวจอวัยวะสืบพันธุ์อย่างละเอียดเพื่อหาความผิดปกติ การทำอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดเพื่อดูรังไข่ รวมถึงดูความหนาของผนังมดลูก

  4. การตรวจเลือด จะเจาะเลือดไปตรวจเพื่อดูระดับฮอร์โมน และภาวะของโรคเบาหวาน และไขมันในเลือด ซึ่งพบได้บ่อยในโรค PCOS

 

PCOS กับภาวะแทรกซ้อน

สำหรับผู้ที่เป็น PCOS นั้น อาจมีโรคและอาการอื่นร่วมด้วย คือ

  • โรคเบาหวาน ทั้งในขณะตั้งครรภ์ และไม่ตั้งครรภ์

  • คอเลสเตอรอล หรือไขมันในเลือดสูง

  • ความดันโลหิตสูง

  • ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก

  • เพิ่มความเสี่ยงต่อการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และมะเร็งเต้านม

  • ภาวะโรคอ้วนลงพุง ที่อาจส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดได้

  • ภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากไข่ไม่ตกเรื้อรัง หรือหากตั้งครรภ์มีโอกาสแท้งได้ในช่วง 3 เดือนแรก

  • หากตั้งครรภ์อาจมีภาวะครรภ์เป็นพิษ  หรือทารกเติบโตช้าขณะอยู่ในครรภ์

 

 ดูแลตัวเองยังไงเมื่อเป็น PCOS

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

  • ควบคุมอาหาร เลี่ยงอาหารที่ไม่มีประโยชน์จำพวกน้ำตาล ไขมัน และแป้ง

  • ทานอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ และมีประโยชน์ต่อร่างกาย 

  • ลดความอ้วน และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

  • ไม่เครียด เพราะจะทำให้ฮอร์โมนผิดปกติ

  • ทานยาฮอร์โมน หรือยาคุมกำเนิดตามแผนการรักษาของแพทย์อย่างต่อเนื่อง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลกรุงเทพ และ พบแพทย์ (pobpad)

       

☘️ มุมสาระน่ารู้ TardHealth info

ความรู้เพื่อสุขภาพ รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์ By TaradHealth

ข้อมูลเพิ่มเติม»

เรื่องที่คุณอาจสนใจ