6 อาการเสี่ยง โรคโลหิตจาง

 

เลือดจาง หรือ โลหิตจาง (Anemia) คือภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ทำให้ไม่สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ดีเท่าที่ควร นำไปสู่อาการซีด วิงเวียนศีรษะ และอ่อนเพลีย เราอาจได้ยินคำว่า เลือดจาง หรือ โลหิตจาง กันอยู่บ่อยๆ แต่รู้หรือไม่ว่า ภาวะโลหิตจางนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งที่เป็นมาแต่กำเนิด และเพิ่งเป็นภายหลัง ซึ่งแต่ละสาเหตุนั้นก็มีความรุนแรงต่างกันไป

อาการของภาวะเลือดจาง

การที่ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ทำให้ร่างกายขาดฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยลำเลียงออกซิเจนไปยังเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติตามมา เช่น

  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายกว่าปกติ

  • ซีด ผิวหนังไม่มีเลือดฝาด

  • วิงเวียนศีรษะ ปวดหัว มึนงง และหน้ามืดบ่อย

  • หายใจลำบาก และอาจมีอาการเจ็บหน้าอกเป็นบางครั้ง

  • ใจสั่น มือเท้าเย็น

ซึ่งความรุนแรงและความถี่ในการเกิดอาการอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล และหากภาวะเลือดจางเกิดจากสาเหตุที่รุนแรงมาก ก็อาจอันตรายถึงขั้นเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ช็อก และเสียชีวิต

สาเหตุของภาวะเลือดจาง

การที่มีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยลงจนนำไปสู่ภาวะเลือดจางนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยแบ่งได้เป็น 3 สาเหตุหลัก ได้แก่ ร่างกายเสียเลือดมาก มีการสร้างเม็ดเลือดแดงน้อย และมีการทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ

  • สาเหตุจากร่างกายเสียเลือดมาก

เป็นสาเหตุของภาวะเลือดจางที่พบได้บ่อย โดยการเสียเลือดอาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน หรือเกิดแบบเรื้อรังก็ได้ ยกตัวอย่างปัจจัยที่ทำให้เสียเลือดมาก ได้แก่ การเกิดอุบัติเหตุ การตกเลือดจากการคลอดหรือแท้งบุตร การติดเชื้อพยาธิปากขอ เสียเลือดมากจากการมีประจำเดือน เป็นต้น

  • สาเหตุจากมีการสร้างเม็ดเลือดแดงน้อย

ปัจจัยที่ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ มีทั้งโรคที่เป็นมาแต่กำเนิด และโรคที่เกิดขึ้นภายหลัง ตัวอย่างเช่น

  • มีความผิดปกติของไขกระดูก เช่น ไขกระดูกฝ่อ ติดเชื้อในไขกระดูก มะเร็งไขกระดูก เนื่องจากไขกระดูกเป็นอวัยวะที่สร้างเม็ดเลือดแดงในผู้ใหญ่

  • มีความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น ภาวะขาดฮอร์โมน Erythropoietin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากไตและกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง การขาดฮอร์โมนดังกล่าวอาจเป็นความผิดปกติแต่กำเนิด หรือเกิดจากภาวะไตเสื่อมก็ได้

  • ขาดสารอาหาร โดยเฉพาะวิตามิน บี12 โฟเลต และธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง หากเราทานสารอาหารไม่ครบถ้วน ก็จะทำให้การสร้างเม็ดเลือดแดงผิดปกติด้วย

  • การตั้งครรภ์ ว่าที่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในช่วง 6 เดือนแรก อาจมีภาวะขาดโฟเลตและธาตุเหล็ก ทำให้มีโอกาสเกิดเลือดจางได้บ่อยๆ การทานโฟเลตและธาตุเหล็กเสริมขณะตั้งครรภ์ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดจางได้

  • สาเหตุจากมีการทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ

ปัจจัยที่ทำให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายมากกว่าปกตินั้นมีมากมาย ซึ่งมีทั้งปัจจัยที่เป็นแต่กำเนิดและปัจจัยที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น

  • โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้เกิดอาการผิดปกติตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง ขึ้นอยู่กับชนิดของธาลัสซีเมีย

  • โรค Sickle cell anemia ทำให้เม็ดเลือดแดงมีรูปร่างผิดปกติ ไม่สามารถขนส่งออกซิเจนได้สมบูรณ์ และถูกทำลายได้ง่าย

  • มีม้ามโต ซึ่งม้ามเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ทำลายเม็ดเลือดแดง

  • ปัจจัยอื่นๆ เช่น เกิดการติดเชื้อไวรัสบางชนิด ร่างกายขาดเอนไซม์บางตัว หรือเป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะเลือดจาง

อันตรายจากภาวะเลือดจางโดยทั่วไป มักมาจากอาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย ทำให้ทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้ตามปกติ หรืออาจหน้ามืด เป็นลม หมดสติ จนเกิดอุบัติเหตุได้ รวมถึงผู้ป่วยที่มีเลือดจาง หัวใจจะต้องทำงานหนักกว่าปกติเพื่อสูบฉีดเลือด ทำให้อาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจวายได้เช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่ต้องรับเลือดเป็นประจำ ก็เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเหล็กเกิน ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้

การรักษาภาวะเลือดจาง

  • การรับสารอาหารเสริม ผู้ป่วยที่มีเลือดจางจำนวนมาก มักขาดสารอาหารสำคัญทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ดังนั้น แพทย์จะแนะนำให้ทานธาตุเหล็ก วิตามิน บี12 และโฟเลตเสริม รวมถึงทานอาหารที่มีสารอาหารดังกล่าวสูงด้วย เช่น เครื่องในสัตว์ นม ไข่ ผักใบเขียว

  • การรับฮอร์โมนเสริม  เหมาะสำหรับผู้ที่ขาดฮอร์โมน erythropoietin โดยแพทย์จะฉีดฮอร์โมนเข้าสู่ร่างกายเพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง นอกจากนี้ ผู้ที่มีประจำเดือนมากกว่าปกติ ก็อาจต้องรับฮอร์โมนบางอย่างเพื่อปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย

  • การรับเลือดทดแทน ใช้รักษาในผู้ที่มีภาวะเลือดจางจากการเสียเลือดมาก และผู้ที่เป็นโรคทางพันธุกรรมทำให้มีโลหิตจางอย่างรุนแรง เช่น ผู้ป่วยธาลัสซีเมียบางชนิด ซึ่งสิ่งที่ต้องระวังจากการรับเลือดเป็นประจำ คือภาวะเหล็กเกิน ทำให้ผู้ป่วยบางคนต้องรักษาด้วยวิธี Chelation therapy เพื่อขับเหล็กออกจากร่างกายด้วย

  • การปลูกถ่ายไขกระดูก ในกรณีที่มีภาวะเลือดจางอย่างรุนแรง และสาเหตุมาจากความผิดปกติของไขกระดูก แพทย์อาจแนะนำให้ทำการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก โดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากผู้บริจาคที่มีความเข้ากันได้กับร่างกายผู้ป่วย

  • การตัดม้าม หากมีภาวะม้ามโตและเกิดการทำลายเม็ดเลือดแดงมาก แพทย์อาจรักษาด้วยการตัดม้าม ซึ่งจะช่วยให้อาการซีดและภาวะเลือดจางดีขึ้น แต่สิ่งที่ต้องระวังคือภูมิคุ้มกันร่างกายอาจอ่อนแอลงหลังตัดม้าม ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย

การป้องกันภาวะเลือดจาง

ภาวะเลือดจางที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรมนั้นไม่สามารถป้องกันได้ แต่เราสามารถป้องกันปัจจัยซึ่งรับมาภายหลังได้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เสียเลือดมาก

  • ทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก วิตามิน บี12 และโฟเลตสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ นม ไข่ ผักใบเขียว และธัญพืช รวมถึงหากอยู่ระหว่างตั้งครรภ์หรือมีประจำเดือนมาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทานธาตุเหล็กและโฟเลตเสริมด้วย

  • หากตนเองมีภาวะเลือดจางอยู่แล้ว และวางแผนจะมีลูก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปสู่ลูก

 

ขอบคุณที่มา: https://www.honestdocs.com

 

สามารถสั่งซื้อหรือสอบข้อมูลเกี่ยวผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย เพื่อสุขภาพ
ได้ที่ www.taradhealth.com โทร 062-595-3399 , 085-688-7890
ID Line: @taradhealth
Facebook:
TaradHealth

☘️ มุมสาระน่ารู้ TardHealth info

ความรู้เพื่อสุขภาพ รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์ By TaradHealth

ข้อมูลเพิ่มเติม»

เรื่องที่คุณอาจสนใจ