ฝนมาแล้ว หลบโรคภัยกันเถอะ!

ฝนมาแล้ว_1040x1040

ฟ้าครึ้มๆ ฝนเทลงมาติดกันหลายวันขนาดนี้น่าจะเป็นที่รู้ๆกันแหละเนอะว่า... เป็นสัญญาณบอกถึงประเทศไทยกำลังเข้าสู่หน้าฝนแล้ว และที่สำคัญอากาศที่ชื้น น้ำจากฟ้าก็ทำให้เปียกแฉะนั้นต้องมาพร้อมกับโรคภัยทั้งใกล้และไกลตัว ถ้าไม่ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ฉะนั้น มาหลบโรคด้วยความรู้ที่มาพร้อมหน้าฝนกันก่อนจะป่วยหนักดีกว่านะ

 

โรคฉี่หนู  (Leptospirosis)

เกิดจาก   

        เชื้อแบคทีเรีย Leptospira ที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น หนู สุนัข แมว หมู ควาย วัว และสัตว์ฟันแทะทั้งหลาย โดยเชื้อแบคทีเรียนี้จะระบาดมากในช่วงหน้าฝน เนื่องจากน้ำฝนจะชะล้างเอาเชื้อโรคต่างๆจากสภาพแวดล้อมไหลมารวมกันอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมขังตามพื้นถนน ดิน โคลน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ แม่น้ำ ลำคลอง ซึ่งสามารถอยู่ได้นานเป็นเดือนขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม หากสัมผัสถูกเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผล รอยขีดข่วน เยื่อบุจมูก เยื่อบุตา และเยื่อบุในช่องปากได้ง่ายมาก

อาการหลังติดเชื้อ

  • ระยะแรก  ช่วง 4 – 7 วันแรกจะมีอาการไข้สูงแบบฉับพลัน ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อกล้ามเนื้อหลัง  น่อง และต้นคอมาก มีอาการตาแดง ซึ่งอาจเป็นนานถึง 1 สัปดาห์ มีอาการคอแข็ง ความดันต่ำลง ตาเหลือง ตัวเหลือง หากอาการรุนแรงจะมีผื่นแดงตามผิวหนัง มีจุดเลือดออกที่เพดานปาก และต่อมน้ำเหลืองโตได้

  • ระยะที่สอง  ร่างกายจะเริ่มสร้างโปรตีนเฉพาะต่อเชื้อโรคฉี่หนู มักพบหลังเริ่มมีไข้ประมาณ 1 สัปดาห์ และในระยะนี้มักมีอาการปวดหัว ไข้ต่ำๆ คลื่นไส้อาเจียน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ม่านตาอักเสบ ตับและไตทำงานผิดปกติ

การดูแล ป้องกัน

  • ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำ หรือสิ่งแวดล้อมที่มีน้ำขัง เช่น เดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือการแช่น้ำนานๆ

  • ถ้ามีบาดแผลตามร่างกาย รอยถลอก รอยขีดข่วนไม่ควรเดินลุยน้ำ หากเลี่ยงไม่ได้ควรสวมใส่รองเท้าบูท และระวังอย่าให้น้ำเข้าในรองเท้าบูทที่ใส่

  • หากเดินลุยน้ำแล้วต้องรีบล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้ง และเช็ดเท้าให้แห้ง

  • กำจัดขยะไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนู

  • กำจัดหนูตามแหล่งที่อยู่อาศัย

  • ถ้ามีอาการเสี่ยงที่จะเป็นโรคฉี่หนูให้รีบไปพบแพทย์

 

โรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือตาแดง

เกิดจาก

        เชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อไวรัส adenovirus ที่อยู่ในน้ำตาและขี้ตา ซึ่งสามารถติดต่อกันได้ง่ายผ่านการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงด้วยการขยี้ตาแล้วไปจับเสื้อผ้า จับสิ่งของ หรือจับคนใกล้ตัว การใกล้ชิดกันหรือใช้ของร่วมกัน จากการหายใจหรือไอจามรดใส่กัน และยังเกิดได้จากการใช้น้ำไม่สะอาดล้างหน้า อาบน้ำ ถูกน้ำสกปรกที่มีเชื้อโรคกระเด็นเข้าตา

อาการหลังติดเชื้อ

         โรคตาแดงอาจเกิดกับตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือเกิดทั้งสองข้างก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นทั้งสองข้างผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อนแล้วจะค่อยๆเริ่มลามไปอีกข้างภายในเวลา 2 – 3 วัน อาการที่พบปวดเบ้าตาเล็กน้อย คันตา เคืองตา เส้นเลือดบวม และทำให้ตาค่อยๆแดงขึ้น หรือมีการอักเสบเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำตาลดลง เปลือกตาบวม อาจพบตุ่มเล็กกระจายอยู่ ถ้าติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยจะมีขี้ตามากทำให้ลืมตายากในตอนตื่นนอน และจะมีอาการอยู่ราว 1 - 2 อาทิตย์ 

การดูแล ป้องกัน 

  • ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่เป็นโรคตาแดง หรือเยื่อตาอักเสบ 

  • เลี่ยงการสัมผัสหรือใช้มือขยี้ตาแรงๆ 

  • ถ้ามีน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาด อย่าใช้มือหรือผ้าที่ไม่สะอาดขยี้ตาหรือเช็ดตา 

  • หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดเป็นประจำ

  • งดว่ายน้ำในสระว่ายน้ำช่วงที่โรคตาแดงระบาด

  • พักการใช้สายตา และพักผ่อนให้เพียงพอ

  • หากจะใช้ยาหยอดตาให้หยอดตาเฉพาะข้างที่มีอาการเท่านั้น

 

โรคไข้เลือดออก

เกิดจาก

        การติดเชื้อไวรัสแดงกี (Dengue Virus) ที่มีอยู่ด้วยกัน 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4  โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ถ้ายุงลายดูดเลือดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสแดงกีเชื้อจะเข้าไปฝังตัวในกระเพาะและต่อมน้ำลายของยุง ซึ่งจะมีระยะฟักตัวประมาณ 8 - 12 วัน เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสไปกัดคนอื่นๆต่อก็เป็นการก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกตามมา และหลังจากถูกยุงลายที่มีเชื้อกัดประมาณ 5 – 8 วันถึงจะเริ่มแสดงอาการ มักพบในประเทศเขตร้อน และระบาดในช่วงหน้าฝนของทุกปี

อาการหลังติดเชื้อ

        ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสแดงกีนั้นหากไม่รุนแรงมากยังไม่ถือว่าเป็นโรคไข้เลือดออก แต่เป็นกลุ่มของโรคไข้แดงกี อาการที่พบจะปวดหัว ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อตามตัว ปวดข้อหรือกระดูก มีผื่นขึ้นคล้ายผื่นโรคหัด และอาจมีภาวะเลือดออกหรือไม่มีก็ได้

        ส่วนผู้ที่เป็นไข้เลือดออกนั้น จะมีอาการไข้สูง 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ติดต่อกัน 2 - 7 วัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดสีแดงเล็กๆตามผิวหนัง หรือมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะหรืออุจจาระมีเลือดปน ปวดท้องอย่างรุนแรง กดเจ็บชายโครงด้านขวา และในผู้ป่วยบางรายที่อาการรุนแรงอาจเกิดภาวะช็อกหลังมีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ร่วมกับมีอาการซึม กระสับกระส่าย เหงื่อออก กระหายน้ำ ปลายมือปลายเท้าเย็น ปากเขียว ความดันต่ำอาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด  ปัสสาวะน้อยลง หากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ภายใน 12 - 24 ชั่วโมง

การดูแล ป้องกัน

  • หากมีไข้สูง ห้ามกินยาแอสไพริน เพราะจะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น

  • หมั่นเช็ดตัวและดื่มน้ำเพื่อลดไข้ สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด

  • หากไข้ไม่ลดใน 2 วัน และมีอาการเหมือนไข้เลือดออกร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์

  • ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและใกล้เคียง

  • ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยใส่เสื้อผ้าที่ปิดมิดชิด หรือใช้สารไล่ยุง

  • ผู้ที่อายุมากกว่า 9 ปีและเคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้ว ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกจากสายพันธุ์อื่น

 

โรคน้ำกัดเท้า

เกิดจาก

        การติดเชื้อรา ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับกลาก เป็นเชื้อราที่เติบโตได้ดีในที่อับชื้น เปียกเหงื่อ ยืนบนน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ต้องลุยน้ำสกปรกเนื่องจากการทำงาน ลุยน้ำช่วงหน้าฝนหรือเท้าอยู่ในที่อับชื้น การสัมผัสพื้นดินหรือพื้นผิวที่มีเชื้อรา เช่น ห้องน้ำสาธารณะ  พื้นสระว่ายน้ำ รองเท้าที่มีเชื้อรา หรือถุงเท้าที่อับชื้น เป็นต้น และนอกจากเชื้อราแล้วอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยได้  

อาการหลังติดเชื้อ

        มักเกิดตามง่ามมือ ง่ามเท้า มีอาการที่ผิวหนังตามซอกนิ้วเท้าจะเริ่มแดง ขอบนูนเป็นวงกลม คัน เป็นแผล ตกสะเก็ด บางคนเป็นตุ่มเม็ดเล็กๆขึ้นเต็มเท้า ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนทำให้โรคมีอาการรุนแรงขึ้นได้ โดยเมื่อผิวหนังชั้นนอกลอกออกและมีความอับชื้นจะเป็นภาวะที่เหมาะต่อการเติบโตของแบคทีเรียทำให้เท้ามีกลิ่นเหม็น และมีแผล หากเกาหรือแกะแผลอาจมีหนองไหลออกมา แผลบวมแดง มีกลิ่นจนเป็นแผลเรื้อรังได้

การดูแล ป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงการเดินในที่ที่มีน้ำขัง หรือน้ำท่วมสูง

  • หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรใส่รองเท้าบูท และรีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่แล้วเช็ดเท้าให้แห้งทุกครั้ง

  • ถ้าผิวหนังเริ่มเปื่อย เกิดตุ่มคัน ซอกนิ้วเท้าแดง หรือมีบาดแผลให้รีบไปพบแพทย์

  • ทำความสะอาดเท้า ขัดลอกเซลล์ผิวหนังที่ตายอย่างเสมอเพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์ผิวที่ตายเป็นอาหารของเชื้อรา

  • ซักรองเท้าให้สะอาดเป็นประจำ และตากแดดหรือตากลมให้แห้งสนิท

  • สวมใส่รองเท้าที่ไม่อับชื้น มีทางระบายอากาศได้ดี

  • ผู้ที่มีแผลที่เท้า ควรทำแผลให้หายก่อนที่สวมใส่รองเท้าผ้าใบ

 

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ

เกิดจาก

        มักเกิดจากร่างกายอ่อนแอ เนื่องจากอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงจนติดเชื้อโรคที่อยู่ในอากาศ โดยการหายใจเอาเชื้อที่กระจายเข้าสู่ร่างกาย หรือในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่ไอ หรือจามออกมา หรือใช้มือที่เปื้อนเชื้อโรคสัมผัสจมูกหรือตา โรคติดเชื้อทางเดินหายใจในช่วงหน้าฝนจะเป็นกันได้ง่าย เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม ซึ่งการแพร่กระจายเชื้อสามารถแพร่ได้ก่อนเกิดอาการ 1 - 2 วันหลังเกิดอาการ

อาการหลังติดเชื้อ

         มีไข้ ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะ คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ หายใจเร็วหรือหอบเหนื่อย ปวดหัว อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาจมีอาการทางระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร ถ่ายอุจจาระเหลว คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น

การดูแล ป้องกัน

  • สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน หรืออยู่ในสถานที่ที่แออัด

  • ใช้ผ้าปิดปากและจมูกเมื่อไอ หรือจาม

  • หมั่นล้างมือก่อนทานอาหาร และล้างมือทุกครั้งหลังจากที่สัมผัสน้ำมูก น้ำลายเพื่อฆ่าเชื้อโรค

  • หลีกเลี่ยงการคลุกคลี หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย

  • พักผ่อนให้เพียง ไม่ทำงานจนเครียดเกินไป

  • ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที เป็นประจำสัปดาห์ละ 2 – 3 วัน

  • ดื่มน้ำสะอาดให้มาก และทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง

 

 

 ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก :  โรงพยาบาลกรุงเทพ และ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

☘️ มุมสาระน่ารู้ TardHealth info

ความรู้เพื่อสุขภาพ รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์ By TaradHealth

ข้อมูลเพิ่มเติม»

เรื่องที่คุณอาจสนใจ