ระวัง! โรคไข้หูดับ กับ หมูดิบ กินแล้วผิดต่อชีวิต

ระวัง! โรคไข้หูดับ กับ หมูดิบ กินแล้วผิดต่อชีวิต

ช่วงนี้หลายคนคงจะเห็นข่าวคนกิน “หมูดิบ” แล้วต้องตัดขา หรือเข้าโรงพยาบาลกันมากมายเพียงเพราะความชอบรวมถึงการไม่รู้ และไม่ตระหนักว่ากินแล้วจะมีผลเสียร้ายแรงขนาดไหน และยิ่งถ้าเป็นช่วงเทศกาลแล้วด้วยนั้นตามบ้านเรือนต่างๆก็ต้องมีงานสังสรรค์ โดยมักจะทำอาหารกินกันเองง่ายๆอย่างอาหารอีสานพวกน้ำตก ลาบ หลู้ หมูกระทะ จิ้มจุ่มกินกัน ซึ่งในความชื่นมื่นกันนั้นกลับมีภัยร้ายแฝงอยู่หากเราไม่ทำอาหารให้สะอาดและสุก โดยเฉพาะหมู อู๊ดๆที่กินดิบๆแล้วเสี่ยงเป็นโรคชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “ไข้หูดับ”

โรคไข้ดูดับมาจากไหนกัน?

ไข้หูดับ หรือโรคสเตรปโตค็อกคัส ซูอิส เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus suis ที่มักพบในหมูเกือบทุกตัวก็ว่าได้ โดยเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้อยู่ในระบบทางเดินหายใจ ในต่อมทอนซิล อยู่ในเลือด และอาจพบในช่องคลอดของ หมูด้วย ซึ่งทำให้สามารถแพร่เชื้อไปยังลูกหมู หรือหมูตัวอื่นๆได้

ซึ่งโรคไข้หูดับสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ผ่านทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตาโดยการสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ ทั้งเนื้อหมู เครื่องในหมู หรือแม้แต่เลือดของหมูด้วย และการติดต่ออีกทางคือ การกินเนื้อหมูดิบ หรือหมูที่สุกๆดิบๆ อย่างพวกลาบ หลู้หมูดิบ แหนมหมู สเต็ก หมูกระทะ ปิ้งย่าง จิ้มจุ่ม ชาบูที่เรามักจะใช้ตะเกียบคีบทั้งหมูดิบเพื่อนำไปย่าง และคีบหมูสุกเพื่อนำเข้าปากต่อก็เป็นอีกทางที่เชื้อแบคทีเรียจะเข้าสู่ร่างกายเราได้เช่นกัน

รู้ได้ยังไง? ว่าเป็นไข้หูดับแล้ว

เมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายภายใน 3 – 5 วัน อาการที่แสดง มีดังนี้
- มีไข้ขึ้นสูง
- เวียนหัวจรทรงตัวไม่ได้ ปวดหัวอย่างรุนแรง
- ม่านตาอักเสบ
- ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ข้ออักเสบ

และหลังเริ่มมีไข้ อาการก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่น
คอแข็งเกร็ง หนาวสั่น หอบเหนื่อย
มีหนองที่ปลายประสาทรับเสียง และประสาททรงตัว
มักมีประสาทหูอักเสบ ทำให้หูตึง หูดับ หรืออาจจะหูหนวกเลยก็ได้
ถ้าเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดจนติดเชื้อจะสามารถลุกลามไปยังเยื่อหุ้มสมอง และเยื่อบุหัวใจได้

ถ้าเป็นแล้วจะรักษาอย่างไร

ถ้ารู้ว่าเริ่มมีอาการเบื้องต้นแล้วควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้ทันท่วงที และโรคไข้หูดับสามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ระยะเวลาที่รักษาอาจนานกว่า 2 สัปดาห์ และสำหรับผู้ที่ไปพบแพทย์ช้าจนอาการถึงขั้นหูดับแล้ว แม้แพทย์จะให้ยาจนฆ่าเชื้อได้ แต่เชื้อได้เข้าไปทำลายเยื้อหุ้มสมองบางส่วนแล้วส่งผลให้ผู้ป่วยมีความพิการหลงเหลืออยู่ได้

การป้องกันที่ทำได้ไม่ยาก

เลือกซื้อเนื้อหมูสดที่ไม่มีกลิ่นคาว สีไม่คล้ำที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์
เลือกกินหมูที่ปรุงสุกๆอย่างทั่วถึงและทำเสร็จใหม่ๆเท่านั้น ควรทำให้สุกด้วยอุณหภูมิตั้งแต่ 70 ๐c ขึ้นไป
หลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวหมู เนื้อหมู เลือด เครื่องในด้วยมือเปล่า และควรล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งหลังสัมผัสกับเนื้อหมูสด สำหรับผู้ที่มีบาดแผลควรหลีกเลี่ยง หรือระวังเรื่องการจับเนื้อหมูเป็นพิเศษ
ไม่ควรเอาหมูที่ป่วย หรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุมากิน
เวลาไปกินหมูกระทะ ปิ้งย่าง จิ้มจุ่ม หรือชาบูควรแยกตะเกียบคีบเนื้อหมูดิบ กับเนื้อที่ปรุงสุกแล้ว

☘️ มุมสาระน่ารู้ TardHealth info

ความรู้เพื่อสุขภาพ รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์ By TaradHealth

ข้อมูลเพิ่มเติม»

เรื่องที่คุณอาจสนใจ