CPR ให้ถูก ช่วยชีวิตคนทั้งคนได้เลย

 

หลายต่อหลายครั้งที่เรามักเห็นเหตุการณ์ หรืออุบัติเหตุเกิดขึ้น แต่เรากลับไม่สามารถช่วยได้ และเห็นว่าไม่มีใครที่จะทำ CPR ได้เลย หรือทำแต่ก็ทำผิดวิธีการ ซึ่งมันส่งผลอันตรายต่อผู้บาดเจ็บอย่างที่คาดไม่ถึงก็ว่าได้ แว่นใสเลยอยากมาแนะนำ และสอนวิธีการทำ CPR อย่างถูกต้องเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ/ผู้ป่วยให้ทันท่วงที และปลอดภัยกันนะ

 

การช่วยด้วย CPR คือ ?

            Cardiopulmonary Resuscitation หรือ CPR หรือเรียกว่า การกู้ชีพ” เป็นการปฏิบัติ หรือการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับผู้ที่หยุดหายใจ หรือหัวใจหยุดเต้นเพื่อฟื้นการทำงานของระบบไหลเวียนเลือดที่หยุดทำงานกระทันหัน และให้หัวใจกลับมาเต้นเองได้ตามปกติ โดยไม่เกิดความพิการของสมอง พร้อมทั้งป้องกันเนื้อเยื่อไม่ให้ได้รับอันตรายจากการขาดออกซิเจนอย่างถาวรนั่นเอง

 

ขั้นตอนช่วยชีวิตแบบเบสิคๆ

  1. ตรวจดูก่อนว่าผู้ป่วยหมดสติจริงไหม โดยการเขย่าตัวเบาๆ หรือเรียกด้วยเสียงที่ดังและตบไหล่ทั้งสองข้าง

  2. หากผู้ป่วยรู้สึกตัว หายใจเองได้ให้จัดท่านอนตะแคง แต่ถ้ายังไม่หายใจให้โทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 

  3. ประเมินอาการผู้ป่วย ถ้าไม่รู้สึกตัวให้จับนอนหงายบนพื้นแข็งแล้วช่วยเหลือด้วยการทำ CPR ทันที

  4. หากมีเครื่อง AED ให้เปิดเครื่อง แล้วถอดเสื้อผู้ป่วยออกเพื่อติดแผ่นเออีดีหรือแผ่นนำไฟฟ้า บริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และชายโครงด้านซ้าย และห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วย

  5. กดปุ่มช็อกและทำการกดหน้าอกหลังทำการช็อกทันที แต่หากเครื่องไม่สั่งช็อกให้ทำการกดหน้าอกต่อไป

  6. กดหน้าอกต่อเนื่อง ทำ CPR และปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่องเออีดี จนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง

  7. ส่งต่อผู้ป่วยให้กับทีมกู้ชีพ เพื่อนำส่งโรงพยาบาลต่อไป

 

CPR ให้ถูกทำยังไงนะ

          ลำดับขั้นตอนของการทำ CPR ที่สำคัญคือ ต้องใช้หลักการ C - A - B  นั่นก็คือ กดหน้าอก (C) 30 ครั้ง - เปิดทางเดินหายใจ (A) - ช่วยหายใจ (B) 2 ครั้ง โดยวิธีปฏิบัติแต่ละขั้นตอนของการทำ CPR มีดังนี้ 

 

C - Chest compression  เป็นการกดหน้าอก ปั๊มหัวใจช่วยผู้บาดเจ็บให้มีการไหลเวียนของเลือดในร่างกายอีกครั้งหนึ่ง มีขั้นตอน คือ 

  • จัดท่าให้ผู้บาดเจ็บนอนหงายบนพื้นราบและแข็ง ไม่ใช้หมอนหนุนศีรษะ

  • วางนิ้วชี้ และนิ้วกลางตรงตำแหน่งที่กระดูกซี่โครงต่อกับกระดูกอกส่วนล่างสุด วางสันมืออีกข้างบนตำแหน่งถัดจากนิ้วชี้และนิ้วกลางนั้น ซึ่งตำแหน่งของสันมือที่วางอยู่บนกระดูกหน้าอกนี้จะเป็นตำแหน่งที่ถูกต้องในการปั๊มหัวใจ

  • วางมือข้างที่ถนัดทับลงบนมือที่วางในตำแหน่งที่ถูกต้อง เหยียดนิ้วแล้วเกี่ยวนิ้วมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน เหยียดแขนตรงโน้มตัวตั้งฉากกับผู้บาดเจ็บ ทิ้งน้ำหนักลงบนแขนขณะกดหน้าอก กดให้ลึกอย่างน้อย 1.5 - 2 นิ้ว (3.5 ซม.) สำหรับผู้ใหญ่ ส่วนเด็กให้กดลงอย่างน้อย ⅓ ของความลึกทรวงอก (ประมาณ 1 - 1.5 นิ้ว)

  • นับจำนวนครั้งที่กดเพื่อให้เกิดการคงที่ คือ 1 และ2 และ3 และ4 โดยกดทุกครั้งที่นับตัวเลข แล้วปล่อยตอนคำว่า “และ” สลับกันไปให้ได้อัตราการกดอย่างน้อย 100 ครั้ง/นาที หากน้อยกว่านี้จะไม่ได้ผล

  • ควรกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับผายปอด 2 ครั้ง และควรมีผู้ช่วยเหลืออย่างน้อย 2 คนเพื่อเป็นการเปลี่ยนกันทำ CPR จะได้ได้ประสิทธิภาพ

     

A - Airway  เป็นการเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง โดยผู้บาดเจ็บที่หมดสติจะมีภาวะโคนลิ้นและกล่องเสียงตกลงไปอุดทางเดินหายใจส่วนบน เราจึงต้องทำการเปิดให้โล่งนั่นเอง คือ

  • เคลียร์ช่องปากก่อน ตรวจปาก และช่องคอว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่หรือไม่ เช่น เศษอาหาร เลือด เสมหะ ฟันปลอม โดยใช้ผ้าพันนิ้วกวาดเช็ดออกมา 

  • ถ้าผู้บาดเจ็บไม่มีการบาดเจ็บที่ศรีษะ หรือคอ ให้เชยคางขึ้นแล้วกดหน้าผากให้แหงนหน้า (Head tilt - chin lift)

  • หรือถ้าสงสัยว่าผู้บาดเจ็บมีการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังบริเวณคอ ให้ดึงขากรรไกรทั้งสองข้างไปข้างบน แล้วให้ผู้ช่วยเหลืออยู่เหนือศีรษะของผู้บาดเจ็บ (Jaw thrust)

     

B - Breathing  เป็นการช่วยเรื่องการหายใจด้วยการรักษาระดับออกซิเจนให้เพียงพอ และขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออก ซึ่งต้องรีบกดหน้าอกไปก่อน 30 ครั้ง และช่วยหายใจ 2 ครั้งตามสูตร โดยการช่วยหายใจมี ดังนี้

  • แบบเป่าปาก ผู้ช่วยเหลือสูดลมเข้าให้เต็มที่แล้วประกบปากเข้ากับผู้บาดเจ็บให้สนิท ใช้นิ้วบีบจมูกทำการสูดลมเข้าปอดด้วยปริมาตรเท่าปกติ โดยเป่าครั้งละประมาณ 5 วินาที หรือ 12 ครั้ง/นาที 

  • แบบปากต่อจมูก กรณีที่ผู้บาดเจ็บมีการเจ็บที่ปาก หรือในกรณีที่เป็นเด็กเล็ก ให้ใช้วิธีปิดปากผู้บาดเจ็บแล้วปล่อยลมหายใจเข้าทางจมูกผู้บาดเจ็บเเทน โดยทำการช่วยหายใจ 5 - 6 วินาที/ครั้ง หรือ 10 - 12 ครั้ง/นาที 

 

☘️ มุมสาระน่ารู้ TardHealth info

ความรู้เพื่อสุขภาพ รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์ By TaradHealth

ข้อมูลเพิ่มเติม»

เรื่องที่คุณอาจสนใจ