การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

                 โรคพิษสุนัขบ้า หรือ Rabies เป็นโรคติดเชื้อไวรัสจากสัตว์สู่คน (เรียกว่า zoonosis) โดยคนถูกกัดจากสุนัขที่ติดเชื้อไวรัสนี้ โรคนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ‘โรคกลัวน้ำ’ เพราะผู้ป่วยจะมีอา การกลัวน้ำนั่นเอง เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ซึ่งจะอยู่ในน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อ มีชื่อว่า Lyssavirus หรือบางท่านเรียกว่า Rabies virus โดยเชื้อจะทำให้เกิดภาวะสมองอักเสบทั้งในคนและสัตว์ แต่ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสแล้ว ถ้าได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้าและสารภูมิคุ้มกันต้านทาน (Immunoglobulin) อย่างรวดเร็วเหมาะสมก็จะไม่เป็นโรค แต่ถ้าไม่ได้การรักษาดังกล่าวก็จะป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งไม่มียารักษาและเสียชีวิตในที่สุด

 


โรคพิษสุนัขบ้าพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น

  • สัตว์ในตระกูลสุนัข ทั้งสุนัขบ้านและสุนัขป่า (หมาป่า หมาจิ้งจอก หมาใน)

  • สัตว์ตระกูลแมว ทั้งแมวบ้านและแมวป่า

  • สัตว์ในตระกูลหนู ทั้งหนูบ้าน หนูนา หนูป่าหลายชนิด

  • นอกจากนี้ยังมี ค้างคาว วัว ควาย แพะ แกะ ม้า ลิง กระรอก พังพอน สกั๊ง ก็เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน

    โรคพิษสุนัขบ้ามีอาการอย่างไร

    แบ่งอาการของผู้ป่วยพิษสุนัขบ้าออกได้เป็น 2 ระยะคือ

    1.ระยะก่อนเข้าสู่สมอง (Prodrome) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดและชาหรือคันบริเวณรอบๆแผลที่ถูกกัด (โดยที่แผลอาจจะหายสนิทแล้วก็ได้) ซึ่งเป็นผลจากการที่เชื้อเข้าสู่เซลล์ประสาทไขสันหลัง อาการอื่นๆที่อาจพบได้ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 1 - 7 วันแล้วเข้าสู่ระยะต่อไป

    2.ระยะอาการทางสมอง (Acute neurologic phase) ผู้ป่วยจะมีอาการแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

           -กลุ่มสมองอักเสบ (Encephalitis) พบได้ 80% ของผู้ป่วย ซึ่งอาการจะคล้ายกับโรคสมองอักเสบจากเชื้ออื่นๆได้แก่ มีไข้ สับสน เห็นภาพหลอน อยู่นิ่งไม่ได้ คลุ้มคลั่ง กล้าม เนื้อแข็งเกร็งและชัก

           -กลุ่มกล้ามเนื้อเป็นอัมพาต (Paralytic) พบได้ 20% โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะไม่มีอาการแบบกลุ่มสมองอักเสบให้เห็น แต่จะมีอาการกล้ามเนื้อทั้งตัวอ่อนแรงแบบอัมพาตแทน แต่ประสาทรับความรู้สึกยังคงปกติ

    3.ระยะสุดท้าย (Coma) ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีอาการอยู่ในกลุ่มไหน ในที่สุดผู้ป่วยก็จะซึมลงเรื่อยๆจนถึง     ขั้นโคม่า เกิดภาวะหายใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูงมากหรือต่ำมาก หัวใจ เต้นไม่เป็นจังหวะ จนกระทั่งหยุดเต้นและเสียชีวิต(ตาย) เกือบ 100% โดยใช้เวลาประมาณ 10 วันนับตั้งแต่เกิดอาการแรก (พบได้ตั้งแต่ 1 - 14 วัน)

     

    ข้อควรปฏิบัติภายหลังจากสุนัขบ้าหรือสัตว์ที่สงสัยว่าบ้ากัด

    1. ล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาด ฟอกด้วยสบู่ 2-3 ครั้ง แล้วทาแผลด้วยน้ำยาพิวิดีน (เบตาดีน) หรือแอลกอฮอล์ หรือทิงเจอร์ ไอโอดีนแล้วรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที

    2. ถ้าสุนัขตายให้นำซากมาตรวจ ถ้าหากสุนัขไม่ตายให้ขังไว้ดูอาการ 10 วัน ขณะเดียวกันให้รีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าส่วนการรักษาทางสมุนไพรหรือแพทย์แผนโบราณไม่สามารถป้องกันโรคได้ ไม่ควรรอดูอาการสุนัข เพราะอาจสายเกินไปที่จะฉีดวัคซีน

    3. ในกรณีที่ติดตามสัตว์ที่กัดไม่ได้ อาทิ สัตว์ป่า สัตว์จรจัด สัตว์กัดแล้วหนีไป จำเป็นต้องรับการฉีดวัคซีน

    4. ผู้ที่ต้องมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าคือ มีบาดแผล ไม่ว่าจะเป็นรอยช้ำเขียว มีเลือดไหล แผลถลอกหรือแผลลึก รวมทั้งผู้ที่สุนัขเลียที่นัยน์ตา ริมฝีปาก และผิวหนังที่มีแผลถลอก

 

 

☘️ มุมสาระน่ารู้ TardHealth info

ความรู้เพื่อสุขภาพ รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์ By TaradHealth

ข้อมูลเพิ่มเติม»