งาดำ…เมล็ดเล็กจิ๋ว แต่คุณภาพโภชนาการยิ่งใหญ่

น้ำมันงาดำ
งาดำ…เมล็ดเล็กจิ๋ว แต่คุณภาพโภชนาการยิ่งใหญ่งาดำ เป็นพืชล้มลุกมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศเอธิโอเปีย ต่อมามีการนำไปปลูกแพร่ขยายไปยังประเทศต่าง ๆ ได้แก่ อินเดีย แอฟริกาเหนือ อินเดีย เอเซียใต้ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ประเทศไทย และปัจจุบันมีการปลูกงาในประเทศต่าง ๆ กว้างขวาง
ลักษณะทางพฤษศาสตร์ งาดำมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซีซามุม โอเรียนเทล ( Sesamum orientale L.) และจัดอยู่ในวงศ์ พีดาเลียซีอี (Pedaliaceae) มีชื่อสามัญเรียกว่า ซีซามี (Sesame) ในประเทศไทยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ชนเผ่ากะเหรี่ยง ในแม่ฮ่องสอน เรียกว่า นิโซ คนจีนเรียกว่า ไอยู่มั้ว แต่คนไทยทั่ว ๆ ไปเรียกว่า งา งาขาว งาดำ
ลำต้น เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยม 4 เหลี่ยม ลำต้นจะตั้งตรงจนถึงส่วนยอด มีความสูงประมาณ 3 – 4 ฟุต
ใบ จัดเป็นพืชใบเดี่ยว เรียงตรงกันข้ามหรือสลับกัน ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือรูปใบหอก
ดอก จัดเป็นดอกเดี่ยว ดอกแตกหน่อออกมาจากส่วนของซอกใบ มีกลีบดอกสีขาวอมม่วงหรือสีชมพูอมม่วงผล เป็นแคปซูลมีขนาดเล็กเท่า ๆ กับนิ้วก้อย เมื่อผลแก่แคปซูลจะแห้ง และแตกได้ ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก มี สีขาว สีดำ เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า งาขาว หรือ งาดำ นอกจากนี้เมล็ดยังมี สีน้ำตาล
ซึ่งทางภาคเหนือของประเทศไทยเรียกว่า งาขี้ม่อน ซึ่งปลูกกันมากทางภาคเหนือตามดอยต่าง ๆ
เกษตรกรที่ปลูกงา เมื่อสังเกตว่าผลของงาแก่ซึ่งจะเริ่มเปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ เกษตรกรจะถอนต้นงาดำออกมาตากแดดหรือแขวนกับราวเพื่อผึ่งให้ผลแห้ง ซึ่งภายในผลจะมีเมล็ดจำนวนมากและต้องเก็บด้วยความระมัดระวังให้เมล็ดตกลงใน ภาชนะที่เตรียมไว้การพัฒนาสายพันธุ์งาดำในประเทศไทย
ดร. สายสุนีย์ รังสิปิยะกุล นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ทำการศึกษาเกี่ยวกับการปลูก การขยายพันธุ์ ปรับปรุงพันธุ์ ทั้งงาขาวและงาดำ ศึกษาเพื่อพัฒนาพันธุ์งาดำเพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีผลผลิตสูง 100 กิโลกรัมต่อไร่ หรือมากกว่านั้น และให้มีขนาดเมล็ดโต คือให้ได้ 1,000 เมล็ด มีน้ำหนัก 2.8 กรัมการปรับปรุงสายพันธุ์งาดำ
ในโครงการความร่วมมือระหว่างอิสราเอลกับประเทศไทย (Thai – Israel Sesame Co-operation Project ในปี พ.ศ. 2529 กรมวิชาการเกษตรได้รับเมล็ดพันธุ์งาดำลูกผสมชั่วที่ 2 จากประเทศอิสราเอล 253 สายพันธุ์ มาปลูกเพื่อคัดเลือกพันธุ์ ภายใต้สภาพแวดล้อมของประเทศไทย จนถึงชั่วที่ 6 ก่อนนำเข้าประเมินผลผลิตที่ศูนย์วิจัยและสถานีทดลองพืชไร่ ตลอดจนในสภาพไร่ของเกษตรกรในจังหวัดต่าง ๆ ได้เป็น งาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 มีขนาดเมล็ดโต เฉลี่ย 1,000 เมล็ด มีน้ำหนัก 3.03 กรัม และให้ผลผลิตสูง 102 – 135 กิโลกรัมต่อไร่ ในไร่ของเกษตรกร สูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองเดิม ซึ่งให้ผลผลิตเพียง 95 กรัมต่อไร่เท่านั้น
การวิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์งาดำ จนแน่ใจว่ามีลักษณะเด่นจริง จึงได้ดำเนินการขอรับรองพันธุ์จากทางราชการ คือ งาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3

smile-drops-blacksesame-logo

คุณค่าทางโภชนาการของงาดำ
งาดำมีประโยชน์และมีคุณค่าทางด้านโภชนาการสูงอย่างมาก เมล็ดงามีน้ำมัน ที่เรียกว่า น้ำมันงา ประมาณ 45 – 55 % เป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายของคนเรามาก คือ มี กรดไขมันโอเมก้า – 6 และ โอเมก้า – 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ ต้องรับประทานเข้าไป กรดไขมันดังกล่าวนี้ปกติจะมีมากในปลาโดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึก น้ำมันงาเป็นไขมันชนิดดี คือเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวมากถึง 85 % ชนิดของกรดไขมัน คือ กรดลิโนเลอิก และ โอเลอิก ซึ่งมีประโยชน์ ต่อร่างกาย เช่น
ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันหรือภูมิชีวิตทำงานดีขึ้น กระตุ้นให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดขาวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย ช่วยลดการจับตัวของเกร็ดเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น และช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบภายในผนังหลอดเลือดที่อาจจะนำไปสู่การ เกิดโรคความดันโลหิตสูง และโรคเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดได้
ในน้ำมันงายังมี วิตามิน อี ซึ่งในทางการแพทย์กล่าวว่า วิตามิน อี เป็น สารแอนติออกซิแดนต์ ที่มีความสำคัญที่สุดในการป้องกันไม่ให้ไขมันในเซลล์และในผิวหนัง ทำปฏิกิริยากับ สารอนุมูลอิสระ (Free radicals) ซึ่งนำไปสู่การเกิดมะเร็งได้ หรือเรียกได้ว่าเป็นสารต้านมะเร็ง และยังทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น มีความยืดหยุ่นตามธรรมชาติ
รศ.ดร. ปรัชญา คงทวีเลิศ ผู้ช่วยคณะบดีบัณฑิตศึกษา และ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดงาดำที่เรียกว่า เซซามิน (Sesamin) ซึ่งเป็นสารที่สำคัญมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น
1. ช่วยในการเผาผลาญ สลายไขมัน ลดความอ้วนเสริมสร้างกล้ามเนื้อ
2. ลดการดูดซึมและการสังเคราะห์คอเลสเตอรอล
3. ทำให้ระดับไขมันอยู่ในสัดส่วนปกติ
4. ช่วยการทำงานของ วิตามิน อี
5. ช่วยป้องกันการเสื่อมของเซลล์ในระบบประสาท
6. ลดปฏิกิริยาความเครียด
7. ต้านอนุมูลอิสระ เป็นสารแอนติออกซิแดนต์
8. ต้านการอักเสบ
จากผลงานการวิจัยเกี่ยวกับงาดำ ดร.สายสุนีย์ รังสิปิยกุล กล่าวว่า เมล็ดงาดำเป็นพืชอาหารเพื่อสุขภาพโดยแท้ เนื่องจากมีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายของมนุษย์เรา มากถึง 4.1 – 6.5 % ที่สำคัญ เช่น เช่น แคลเซี่ยม สูงมากกว่าพืชทั่วไปถึง 40 เท่า และฟอสฟอรัส ถึง 20 เท่า ซึ่งทั้งแคลเซี่ยมและฟอสฟอรัสมีความสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแรง ของกระดูกและฟัน และช่วยในการทำงานของระบบกล้ามเนื้อให้เป็นปกติ แมงกานิส มีส่วนช่วยในการควบคุมการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่จำเป็นเพื่อเผาผลาญอาหาร สังเคราะห์โปรตีน ช่วยควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้เป็นปกติ และยังมี ธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง โพแทสเซี่ยม ฯลฯ
นอกจากนี้ในเมล็ดงาดำ ยังอุดมไปด้วย วิตามิน บี เช่น บี 1 บี 2 บี 5 บี 6 บี 9 ซึ่งจะเห็นได้ว่า งาดำนั้นเป็นธัญพืชที่มีสารอาหารนานัปการมีประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก
งาขี้ม่อน เป็นงาที่เมล็ดมีสีน้ำตาล เป็นพืชที่ปลูกกันมากในภาคเหนือของประเทศไทย เป็นงาพื้นเมือง ปลูกกันมากตามดอย หรือเชิงดอยต่าง ๆ จากรายงานของ พรรณผกา รัตนโกศล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรน่าน สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 เชียงใหม่ รายงานการสำรวจการปลูกงาขี้ม่อน ในเขตภาคเหนือตอนบน ในจังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา และน่าน ซึ่งพบว่าปลูกกระจายทั่วไปตามเชิงดอยต่าง ๆ มีทั้งหมด 130 สายพันธุ์
เมล็ดงาม่อน มีแคลเซี่ยม และ ฟอสฟอรัสที่สูง นอกจากนี้ที่สำคัญ คือ น้ำมันจากเมล็ดงาม่อน มีกรดไขมันโอเมก้า – 3 และ โอเมก้า – 6 สูงเช่นเดียวกัน
เนื่องจากงาม่อนมีหลายสายพันธุ์ มีความหลากหลายทางพันธุกรรม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรน่าน จึงดำเนินการทดลองปลูกเพื่อพัฒนาสายพันธุ์งาม่อนที่มีคุณภาพดีและมีผลผลิต สูง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานพัฒนา คาดว่า ในปี พ.ศ. 2555 – 2556 ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรน่าน คงจะได้มีงาม่อนสายพันธุ์ที่ดี ที่จะได้นำให้เกษตรกรปลูกเสริมรายได้ต่อไป

………………….

เว็บไซต์อ้างอิง
1. งาดำ เมล็ดจิ๋ว ประโยชน์แจ๋ว (Online) เข้าถึงได้จาก http://blogeduzone.com/racchidlom/34589 สืบค้น 18/07/2556
2. ประโยชน์ของน้ำมันงา (Online) เข้าถึงได้จาก http://pumedin.com/idex.php?lay=show?ac=article&Id=538680763
สืบค้น 18/07/2556
3. งาดำกับนานาประโยชน์และวิธีการทานแบบง่าย ๆ (Online) เข้าถึงได้จาก http://www.okhotshop.com/2013/review
สืบค้น 18/07/2556
4. ความมหัศจรรย์จากธรรมชาติบริสุทธิ์ น้ำมันงาดำ (Online) เข้าถึงได้จาก http://smartlife->plus.com/promotion_detail.php?
id=3522725 สืบค้น 23/07/2556
5. ประโยชน์ของงาดำ ป้องกันโรคหัวใจ บำรุงผิวและผม (Online) เข้าถึงได้จาก http://www.blogging.com/viewdiary.php?id=ba
สืบค้น 23/07/2556
6. งาดำดีต่อสุขภาพมาก ต้านอนุมูลอิสระฯ (Online) เข้าถึงได้จาก http://www.gotoknow.org/post/516715 สืบค้น 25/07/2556
7. งาดำ (Sesamum orientale L.) (Online) เข้าถึงได้จาก http://www.thaibiodiversity.org/life/lifeDetail.aspx?LifeID=30668
สืบค้น 28/07/2556
8. งาดำเม็ดโต สายพันธุ์อุบลราชธานี 3 (Online) เข้าถึงได้จาก http://it.doa.go.th/pibai/pibai/rai.html สืบค้น 28/07/2556