พรอนงค์ อร่ามวิทย์ นักวิจัยที่มีผลงานต่อยอดในเชิงพาณิชย์มากที่สุดคนหนึ่งในไทย

พรอนงค์ อร่ามวิทย์ นักวิจัยเงินล้าน

 

พรอนงค์ อร่ามวิทย์ นักวิจัยที่มีผลงานต่อยอดในเชิงพาณิชย์มากที่สุดคนหนึ่งในไทย

กล้าที่จะบอกว่าเธอคือสุดยอดนักวิจัย นักประดิษฐ์ นักเทคโนโลยีและนักวิทยาศาสตร์ โดดเด่นด้วยผลงานความสำเร็จบนเส้นทางการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ

เภสัชกรหญิงพรอนงค์ อร่ามวิทย์ ศาสตราจารย์คลินิกที่มีอายุน้อยที่สุดแห่งคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นชีวิตการเป็นนักประดิษฐ์คิดค้นมา 8 ปี ทุกๆ ปีเธอจะสร้างผลงานที่โดดเด่นออกมานำเสนออย่างสม่ำเสมอพร้อมๆ กับเรียกเสียงฮือฮาอย่างล้นหลาม

ยกตัวอย่าง แผ่นเนื้อเยื่อปิดแผลจากโปรตีนกาวไหม สมุนไพรไทยบรรเทาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ถุงเท้าลอกผิวที่ตายแล้วในผู้ป่วยเบาหวานผลิตจากน้ำมะพร้าว แผ่นมาส์กไบโอเซลลูโลสสำหรับรักษาผิวหน้าหลังการทำเลเซอร์ เป็นต้น จึงไม่แปลกที่จะมีการให้ฉายาเธอว่าเป็น ‘เจ้าแม่’ ของวงการวิจัยที่มีผลงานเชิงพาณิชย์มากที่สุด
แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้“ไม่ใช่”เรื่องง่าย

เธอ ออกตัวว่า ไม่ได้เป็นอัจฉริยะแต่เป็นคนขยัน ตื่นเช้าทุกวันเริ่มทำงานตั้งแต่ตีห้าจนถึงสามทุ่ม ไม่เว้นแม้แต่วันเสาร์วันอาทิตย์ ส่วนหนึ่งเพราะยังไม่มีครอบครัว จึงใช้เวลากับงานวิจัยได้เต็มที่ ผลงานวิจัยพิมพ์ชิ้นแรกเกี่ยวกับโปรตีนกาวไหมในปี 2552 เป็นการค้นพบว่า โปรตีนกาวไหมสามารถกระตุ้นคอลลาเจนเป็นครั้งแรกในโลก

จากนั้นเธอทำการวิจัยแบบเข้มข้นมาตลอด กระทั่งมีผลงานตีพิมพ์วารสารระดับนานาชาติ 70 บทความ เฉพาะที่เกี่ยวกับโปรตีนกาวไหมจำนวน 19 บทความ หากวัดผลความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ที่ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์180 รายการเกี่ยวสุขภาพส่วนใหญ่ 80% เป็นเครื่องสำอาง อาหารเสริม 15% วัสดุทางการแพทย์ 5% ล่าสุดได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์คลินิกดังกล่าว

เมื่อถามถึงงานวิจัยที่กำลังทำอยู่ล่าสุด เธอแย้มมาเล็กน้อยว่าอยู่ระหว่างการทดสอบทางคลินิกคือ การใช้เกล็ดเลือดสัตว์ที่มนุษย์บริโภค(ไก่ หมู) มาสกัดทำให้เกิดสภาวะเร่งที่ทำให้เกล็ดเลือดปล่อยสารกระตุ้นการซ่อมแซมในปริมาณมากกว่าปกติ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการรักษา เช่น แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกสามารถใช้ได้ทำให้แผลหายเร็ว ไม่เกิดแผลเป็น หรือนำมาเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางเพื่อลดริ้วรอยแทนที่จะใช้เลือดตนเอง

งานวิจัยนี้ได้แนวคิดมาจากเทคนิคการลดเลือนริ้วรอย โดยใช้เลือดของตนเองมาปั่นแยก ซึ่งเป็นกรรมวิธีทางไบโอเทคโนโลยีขั้นสูงที่กำลังเป็นที่นิยมในฝั่งฮอลลีวูด คาดว่าสิ้นปีนี้คงเห็นผลงานวิจัยนี้ออกมาอย่างเป็นทางการ

๐ นักวิชาการกล้าคิดนอกกรอบ
จากพื้นฐานครอบครัวทำธุรกิจส่งผลต่อแนวคิดและไลฟ์สไตล์การทำงาน แม้ว่าจะเป็นข้าราชการแต่กลับมีแนวคิดนอกกรอบ
“ธรรมชาติของลูกคนจีนคือต้องขยัน ตอนที่ยังเป็นเด็กๆ นั้น คุณแม่จะบอกว่า ให้ตื่นเช้าเนื่องจากทุกเช้าทองจะตกมาจากฟ้า คนที่ตื่นเช้าจะเก็บทองก่อน เพราะเชื่อแม่ตั้งแต่เด็กไม่ต้องตั้งนาฬิกาปลุก ตื่นตีห้าทุกวัน กลัวคนอื่นแย่งเก็บทอง(หัวเราะ) พี่สาว น้องสาวน้องก็ตื่นเช้าแต่ก็ไม่เช้าขนาดเรา” เธอเล่าย้อนชีวิตวัยเยาว์ด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ
นอกเหนือจากความขยัน สิ่งที่เธอแตกต่างจากนักวิชาการทั่วไปคือ ‘ความกล้า’ ส่งผลให้ผลงานวิจัยออกมาสู่เชิงพาณิชย์จำนวนมากโดยไม่ได้ทำผ่านสถาบันต้นสังกัด เนื่องจากมองว่า ค่าลิขสิทธิ์งานวิจัยหลักล้านไม่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ ยิ่งภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีใครกล้าลงทุนเพราะแค่ลงทุนโรงงานสร้างแบรนด์แทบแย่ ไหนจะต้องมาเสียค่าลิขสิทธิ์จากงานวิจัยอีก ทำให้โอกาสที่งานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ยาก
เธอจึงคิดหาหนทางใหม่คือ ผู้ประกอบการที่สนใจงานวิจัยเข้ามาคุยกัน เธอพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้โดยไม่คิดมูลค่า ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าผลิตภัณฑ์นั้นต้องขายได้ ไม่เจ๊ง ถ้าเจ๊งต้องจ่ายเงินคืนมาให้ 3 เท่าของที่ต้องจ่ายให้มหาวิทยาลัย ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการถ่ายทอดล้วนแต่ประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายทั้งสิ้น
“เราใช้วิธีการเช่าห้องปฏิบัติการของจุฬาฯ เสียค่าน้ำค่าไฟเอง ไม่ใช้ห้องปฏิบัติการในคณะ จึงเสมือนเป็นหน่วยงานอิสระ เมื่อทำงานวิจัยเสร็จก็จดสิทธิบัตรกระบวนการผลิตให้จุฬาฯ ส่วนตัวผลิตภัณฑ์เป็นของนักวิจัย เพราะจุฬาฯ ไม่ทำเองอยู่แล้ว เราก็เช่นเดียวกัน ต่อจากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาทำต่อในเชิงพาณิชย์ เรามีหน้าที่ถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายออกมาอย่างต่อเนื่อง”
พรอนงค์ มองว่า นักวิจัยบางส่วนไม่ได้คิดแบบนี้ หรือคิดแต่ไม่ลงมือปฏิบัติ เพราะกลัว ปัญหาสำคัญคือ ‘ความกลัว ’ หนึ่งกลัวลำบาก เพราะต้องรับผิดชอบแบรนด์สินค้านั้นๆ ไปตลอด สองกลัวเหนื่อย ต้องตามงาน ไม่สู้งาน จริงๆ ทุกอย่างไม่มีอะไรตกมาจากฟ้า เมื่อไรทำได้หนึ่งตัว ตัวถัดๆ ไปง่ายหมด

๐ ชีวิตยิ่งให้ ยิ่งได้รับ
คำแนะนำสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ที่อยากให้งานวิจัย สามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้
นักวิจัยสาวตัวแม่ แนะว่า ข้อแรกขอให้มีความมุ่งมั่นในการทำงานวิจัย และต้องมั่นใจว่า งานวิจัยนั้นสามารถขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากงานวิจัยบางอย่างขยายผลไม่ได้เพราะต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่มีราคาแพง ทำให้โอกาสต่อยอดเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์น้อยลง
ข้อสอง อย่าคิดเรื่องเงินเป็นหลักเพราะค่าตอบแทน ‘ไม่ใช่’ จุดสิ้นสุดของงานวิจัย เพราะงานวิจัยจะประสบความสำเร็จ ต้องมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดต่อเนื่อง สะท้อนให้ถึงความยั่งยืน
ข้อสาม ไม่อยากให้สถาบันที่มีนักวิจัยคิดว่าจะต้องมีค่าตอบแทนจากผลงานวิจัยเสมอไป เพราะทุนส่วนใหญ่ก็มาจากภาษีประชาชน เมื่อไรที่มีการซื้อสิทธิบัตร ต้นสังกัดได้เงิน แต่ ‘ไม่ใช่’ ตัวการันตีว่าประชาชนได้ประโยชน์ หากคิดค่าลิขสิทธิ์แพงเกินไปจะไม่มีใครนำงานวิจัยนั้นไปต่อยอด ซึ่งเท่ากับสูญเสียเงินภาษีประชาชนไปฟรีๆ แทนที่ทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ
ในแง่ผลตอบแทนค่าลิขสิทธิ์จากงานวิจัย พรอนงค์ บอกว่า รายได้จากการทำงานราชการกับรายได้จากงานวิจัยเทียบกันไม่ได้เลย ปัจจุบันเธอมีรายรับจากผลผลิตที่ได้จากงานวิจัยที่นำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ 10 เท่า (จากจำนวน 180 ผลิตภัณฑ์) เมื่อเทียบกับเงินเดือนข้าราชการ
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าผลิตภัณฑ์เหล่าได้รับความนิยมขนาดไหน ตรงนี้คือผลตอบแทนที่ได้รับจากยอดขายผลิตภัณฑ์หลังจากที่ถ่ายทอดเทคโนโลยี ถือเป็นเรื่องที่ภาคภูมิใจเมื่อผลงานวิจัยเหล่านั้นสามารถสร้างชื่อเสียงและรายได้กลับมาให้กับตนเอง
ในฐานะนักวิชาการนักวิจัยทางการแพทย์ ภสัชกรหญิงพรอนงค์ บอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ทั้งเวลา แรงใจ การเสียสละ ทุ่มเท แต่เมื่อผลงานออกมาและเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมนั่นคือสิ่งที่น่าภูมิใจที่สุด แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการเป็นนักวิจัยที่แท้จริง
“การเป็นนักวิจัยที่แท้จริง คือ เราต้องมีความซื่อสัตย์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ถ้าเราไปเอาผลงานคนอื่นมาเป็นของเรา หรืองานชิ้นนี้เป็นงานวิจัยกลุ่มแต่เราบอกว่าเป็นของเราคนเดียวแบบนี้ไม่ถูก ที่สำคัญต้องเป็นคนที่มีความพอเพียง หากคุณจะเป็นนักวิจัยแล้วมัวแต่คิดถึงเรื่องชื่อเสียง เงินทอง มันจะทำให้คุณลืมความตั้งใจว่าคุณมาทำงานนี้เพื่ออะไร แต่ดิฉันก็เชื่อว่าถ้าเราได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุด ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาก็ย่อมนำมาซึ่งความสุข ความภาคภูมิใจอย่างแน่นอน”