ไลม์โรคติดต่อจาก “สัตว์” สู่ “คน”

ไลม์_1040x1040

 

เอ๊ะ! โรคไลม์ติดเชื้อจากไหน ?

     โรคไลม์ (Lyme disease) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย Borrelia จัดอยู่ในกลุ่ม spirochetes  ที่แพร่กระจายเชื้อผ่านเห็บจากการโดนเห็บชนิด blacklegged หรือ deer tick กัด ตัวเห็บจะบวมและปล่อยเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางผิวหนัง โดยเห็บจะเกาะอยู่บนตัวอย่างน้อย 24 – 48  ชม.จึงจะแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ เห็บชนิด blacklegged ไม่กระโดหรือบิน มันจะไต่บนหญ้าหรือพุ่มไม้แล้วจะกางขาด้านบนออกและเกาะบนตัวคนหรือสัตว์ที่มันเจอ โดยเห็บสามารถดูดเลือดและเกาะทุกส่วนของร่างกายได้ แต่มักจะพบในบริเวณที่ไม่สะดุดตา เช่น รักแร้ ขาหนีบ หนังศีรษะ

 

โรคไลม์เป็นได้ทั้งคนและสัตว์

      สัตว์ที่สามารถเป็นโรคไลม์ได้นั้น เช่น สัตว์เลื้อยคลานตัวเล็ก นก สุนัข แมว วัว กวางหางขาว สัตว์ฟันแทะทั้งหลาย แรคคูน ม้า หนูไมซ์ กระรอก เป็นต้น ในสัตว์จะติดโรคไลม์จากการถูกเห็บที่มีเชื้อกัด โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะขนาดเล็กและกวางสามารถเป็นพาหะของเชื้อได้ตามธรรมชาติ ซึ่งสัตว์ที่ติดเชื้อโรคไลม์จะไม่ค่อยแสดงอาการอย่าง สุนัขอาจใช้เวลานานถึง 5 เดือนจึงแสดงอาการป่วย หรือม้าและวัวจะไม่แสดงอาการของโรคเลย ส่วนใหญ่โรคจะหายไปเองแต่บางตัวอาจป่วยนานและอาจพบปัญหาที่ไตหรือหัวใจซึ่งสามารถทำให้เสียชีวิตได้

      ส่วนในคนก็สามารถติดเชื้อโรคไลม์ได้เช่นกัน โดยจะถูกเห็บที่มีเชื้อกัด ซึ่งเห็บต้องเกาะอยู่อย่างน้อย 24 ชม.จึงสามารถแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ โรคไลม์ในคนอาจไม่แสดงอาการป่วยเลยหรืออาจมีอาการรุนแรงมากก็ได้ ซึ่งอาจเริ่มแสดงอาการ 1 – 2 สัปดาห์หลังจากถูกเห็บกัด

 

ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไลม์

  • ทำกิจกรรมนอกบ้านที่มีเห็บเยอะทั้งทำสวน เดินป่า พาสัตว์ออกไปเดินเล่นสวนสาธารณะ

  • เดินผ่านพื้นที่ที่มีหญ้าสูงซึ่งบริเวณนั้นอาจมีการแพร่ระบาดของโรคไลม์อยู่

  • เดินทางไปเที่ยวแถบตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกตอนกลางของอเมริกา รวมถึงแถบยุโรป จีน ญี่ปุ่น ตุรกี และบางพื้นที่ของรัสเซียก็เสี่ยงต่อการเกิดโรค

  • นำสัตว์เลี้ยงเข้ามาภายในบ้าน

 

ภาวะแทรกซ้อน

หากเป็นโรคไลม์แล้วเข้ารับการรักษาได้เร็วผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็ว แต่ถ้าปล่อยไว้นานและไม่ได้รับการรักษาสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ คือ

  • ข้ออักเสบเรื้อรัง ปวดข้อกระดูกโดยเฉพาะข้อเข่า

  • มีอาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ คือ คอแข็ง ปวดศีรษะรุนแรง

  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการทางระบบประสาท เช่น หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว มีปัญหาด้านการมองเห็น

  • ระยะหลังสามารถพบอาการอื่นๆได้ด้วย เช่น ความจำเสื่อม หงุดหงิดง่าย ฉุนเฉียว นอนไม่หลับ เส้นประสาทแขนขาได้รับความเสียหาย เป็นต้น

 

อาการที่พบเมื่อติดเชื้อ

     หลังจากโดนเห็บกัดแล้วประมาณ 1 -2 สัปดาห์ผู้ที่ติดเชื้อจะมีผื่นแดงคล้ายเป้ายิงปืนเป็นวงสีแดงซ้อนกัน 2 วงตรงที่โดนกัด แต่จะไม่รู้สึกปวดหรือคัน ซึ่งลักษณะผื่นแดงที่ขึ้นอาจไม่พบในทุกคนที่ติดเชื้อ หรือบางคนมีผื่นแดงแข็งๆ หรือมีลักษณะคล้ายแผลฟกช้ำในผู้ที่มีผิวสีคล้ำ หลังจากนั้น ไม่กี่สัปดาห์เชื้อแบคทีเรียจะแพร่ไปทั่วร่างกายทำให้มีอาการ

  • เป็นไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ

  • ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ ไอ

  • มองเห็นไม่ชัดเจน

  • ปวดกล้ามเนื้อ เมื่อยล้า

  • มีผื่นแดงขึ้นบริเวณที่โดนเห็บกัด

  • มีอาการทางระบบประสาท เช่น ชา ปากเบี้ยว เป็นต้น  

     หลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนหากเชื้อแพร่ไปทั่วร่างกายแล้วและยังไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้มีอาการอื่นร่วมด้วย ซึ่งต้องรีบไปพบแพทย์หากมีอาการ เช่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ข้ออักเสบ ปวดข้อกระดูกโดยเฉพาะข้อเข่า หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการชาที่มือ แขน เท้าและขา มีอาการสมองตื้อ ความจำสั้น ความจำเสื่อมชั่วคราว สมาธิลดลงหรือมีปัญหาเกี่ยวกับอารมณ์ และในบางคนเชื้ออาจแพร่ไปสู่หัวใจหรือสมองด้วย

 

ป้องกันโรคด้วยตัวเองได้  

  • หลีกเลี่ยงบริเวณที่เห็บอาศัยอยู่ เช่น พุ่มหญ้าสูง พุ่มไม้ กองใบไม้ บริเวณป่า หากจำเป็นต้องทำงานบริเวณเหล่านี้ ควรใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว รองเท้าที่ปิดนิ้วเท้า เสื้อผ้าควรใส่สีสว่างเพื่อช่วยให้มองเห็นเห็บได้ง่าย และใช้ยาไล่แมลงที่มีส่วนผสมของ DEET (N, N-diethyl-meta-toluamide) 20 - 30% ทุกครั้งที่ต้องทำงานหรือไปเที่ยวในป่า

  • เก็บกวาดสนามหญ้าและกำจัดเศษใบไม้แห้งที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเห็บและแมลงต่างๆ

  • ดูแลสัตว์เลี้ยงและกำจัดเห็บออกจากสัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อจากเห็บสู่คน

  • กำจัดเห็บทันทีที่เจอ และควรใส่ถุงมือเมื่อกำจัดเห็บและล้างมือให้สะอาดหลังจากเก็บเสร็จทุกครั้ง  

 


☘️ มุมสาระน่ารู้ TardHealth info

ความรู้เพื่อสุขภาพ รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์ By TaradHealth

ข้อมูลเพิ่มเติม»

เรื่องที่คุณอาจสนใจ