เตือนกันไว้ ฮีทสโตรก ภัยร้ายในอากาศร้อน

เตือนกันไว้ ฮีทสโตรก ภัยร้ายในอากาศร้อน

เตือนกันไว้ ฮีทสโตรก ภัยร้ายในอากาศร้อน

     เข้าสู่หน้าร้อนอย่างเต็มตัวกันแล้วเราก็ต้องเตรียมร่างกายให้แข็งแรงและเตรียมรับมือเพื่อเผชิญกับอากาศที่ร้อนระอุของประเทศไทยให้ได้ไม่อย่างนั้นโรคต่างๆที่มาพร้อมความร้อนจะเป็นภัยที่ทำร้ายเราได้อย่าง โรคฮีทสโตรก ที่เป็นภัยเงียบ ซึ่งสามารถคร่าชีวิตคนได้เช่นกันแม้ร่างกายเราจะแข็งแรง แต่ถ้าไม่ดูแลตัวเองในหน้าร้อนให้ดีก็เสี่ยงเป็นโรคนี้ได้

โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด เป็นโรคที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงทำให้การทำงานของร่างกายผิดปกติจนไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิในร่างกายได้ ไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทันทีส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายอาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือดและระบบสมอง

สัญญาณเตือน ที่สังเกตง่ายๆได้ว่าเป็นฮีทสโตรกหรือไม่เพียงดูว่า ถ้าอากาศร้อนจัดแต่ไม่มีเหงื่อออก หน้าแดง ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ ผิวแห้ง กระหายน้ำมาก อ่อนเพลีย ปวดหัว วิงเวียนมึนงง คลื่นไส้ อาเจียน หายใจเร็วขึ้น เกร็งกล้ามเนื้อ ความรู้สึกตัวลดน้อยลง หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา หรืออาจถึงขั้นหมดสติได้หากไม่รีบรักษาอาการให้ทันเวลา และแก้ไขอย่างถูกวิธี ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคฮีทสโตรก 

      ผู้สูงอายุ เด็ก คนที่อดนอนหรือนอนน้อย คนที่ดื่มเหล้าจัด คนที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วน เป็นต้น พนักงานออฟฟิศ(ถ้านั่งในห้องแอร์เป็นเวลานานเมื่อออกมาเจอความร้อนข้างนอกแบบกะทันหันร่างกายจะปรับตัวไม่ทัน) นักกีฬา หรือคนที่ออกกำลังกายหักโหม และทหารที่เข้ารับการฝึกโดยที่ไม่ได้เตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนเจออากาศร้อนจัด

การช่วยเหลือเบื้องต้น 

       หากพบผู้ที่เป็นลมกลางแดดหรือเป็นฮีทสโตรก ควรช่วยเหลือโดยนำเข้าที่ร่ม ให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถ้ามีการอาเจียนให้นอนตะแคงก่อนเมื่ออาเจียนแล้วให้นอนหงาย จากนั้นคลายเสื้อผ้าให้หลวม ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามซอกลำตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะเพื่อระบายความร้อน หรือสามารถใช้น้ำแข็งประคบตามซอกตัวได้ด้วยเช่นกัน ร่วมกับใช้พัดลมเป่าหรือหาอะไรมาพัดระบายความร้อนเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงเร็วที่สุด หากยังไม่ฟื้นให้รีบพาส่งโรงพยาบาล

ดูแลและป้องกันอย่างไร ?

  • ดื่มน้ำ หรือพยายามจิบน้ำให้มาก เฉลี่ยวันละ 6 – 8 แก้ว/วัน

  • ไม่ออกกำลังกายหักโหมเกินไป และออกในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก

  • เลี่ยงการทำกิจกรรม หรือทำงานกลางแจ้งที่แดดแรงเป็นเวลานานๆ

  • หากต้องทำงานในที่ร้อนจัดจะต้องดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร

  • ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา เพื่อให้ระบายความร้อนได้ดี

  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น

  • ผู้สูงอายุและเด็กเล็กควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ควรให้อยู่ในห้องหรือสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้ดี

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการแพทย์

☘️ มุมสาระน่ารู้ TardHealth info

ความรู้เพื่อสุขภาพ รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์ By TaradHealth

ข้อมูลเพิ่มเติม»

เรื่องที่คุณอาจสนใจ