‘วัณโรค’ โรคร้ายที่ควรป้องกันก่อนคร่าชีวิตเรา

‘วัณโรค’ โรคร้ายที่ควรป้องกันก่อนคร่าชีวิตเรา

วัณโรค _1040x1040

     เป็นที่รู้กันดีในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมากับข่าวของวัณโรคประเภทหนึ่งที่สามารถคร่าชีวิตชีวิตหนึ่งไปอย่างกระทันหันอย่างไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จนกระทั่งสามารถหาต้นเหตุได้ว่าเกิดจากโรคอะไร นั่นก็คือ วัณโรคโพรงจมูก นั่นเอง ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ได้ใหม่สำหรับคนไทยแต่เพียงเป็นวัณโรคที่เกิดขึ้นกับอวัยวะในร่างกายที่ต่างจากที่เราคุ้นเคยกันเท่านั้น โดยเราลองมาดูกันว่าเชื้อวัณโรคมาจากไหน และจะร้ายแรงขนาดไหน รวมทั้งวิธีรักษา ป้องกันเมื่อเกิดขึ้นกับร่างกายของเราเอง

 

วัณโรคมาจากไหน ?

        วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงชนิดหนึ่งที่เล็กมาก คือ Mycobacterium tuberculosis ซึ่งถ้าแบคทีเรียเกาะติดกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย และเพิ่มจำนวนแล้วร่างกายจะไม่สามารถป้องกันตัวเองได้จึงกลายเป็นวัณโรค รวมถึงเมื่อได้รับเชื้อแล้วจะไม่ค่อยแสดงอาการ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียตัวนี้โตช้า ซึ่งเชื้อแบคทีเรียนี้สามารถทนอยู่ในอากาศ และสิ่งแวดล้อมได้นาน โดยจะติดต่อกันผ่านทางอากาศที่เราหายใจ ผ่านทางละอองเสมหะจากการจาม ไอ หรือการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรคติดต่อกันเป็นเวลานานๆ   

มารู้จักกับ วัณโรคโพรงจมูกกัน

        “ วัณโรคหลังโพรงจมูก ” ก็คือ โรควัณโรคที่เราคุ้นเคยกันนั่นแหละ แต่วัณโรคประเภทนี้จะพบเชื้อวัณโรคบริเวณหลังโพรงจมูก โดยโพรงจมูกเป็นจุดที่มีเส้นเลือดอยู่มาก ซึ่งเชื้อวัณโรคนี้หากไปก่อให้เกิดพยาธิสภาพบริเวณเยื่อบุโพรงจมูก และหากทำให้เกิดพยาธิสภาพต่อหลอดเลือดบริเวณข้างเคียงจะทำให้หลอดเลือดเกิดการฉีกขาด หรืออาจกล่าวได้ว่าถ้าโรคนี้เป็นตรงบริเวณไหนเนื้อตรงนั้นจะเปื่อยยุ่ย และอาจลุกลามไปจนทำให้เส้นเลือดใหญ่แถวนั้นเปื่อยยุ่ยตามไปด้วย พอเส้นเลือดใหญ่เปื่อยและแตกเลือดปริมาณมากก็จะไหลออกมามาก

        ส่งผลให้เกิดเลือดออกจากบริเวณจมูก หรือปากได้ และทะลักเข้าสู่หลอดลมจนสำลักหายใจไม่ออกพอไม่มีอากาศหายใจจะทำให้สมองขาดออกซิเจน ซึ่งถ้าขาดนานเกิน 5 นาทีก็เสี่ยงทำให้สมองตายและเสียชีวิตได้ทันที นอกจากนี้ อวัยวะที่ติดเชื้อวัณโรคที่พบบ่อยที่สุดคือ ปอด ซึ่งหากเชื้อไปเกิดที่ปอดเวลาไอจะมีเลือดปนออกมาด้วย และวัณโรคสามารถพบผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคที่ส่วนอื่นของร่างกายได้ เช่น กระดูก ต่อมน้ำเหลือง และสมอง รวมถึงโพรงจมูกด้วยนั่นเอง

เช็คสักหน่อย เมื่อไรควรไปตรวจ

       นิ่งนอนใจไม่ได้แล้วหากมีสัญญาณเตือนเกี่ยวกับโรควัณโรค ดังนั้น ลองสังเกตตัวเราเองง่ายๆก่อนว่าร่างกายเรามีอาการเหล่านี้หรือไม่ คือ ไอติดต่อกัน 2 – 3 สัปดาห์ขึ้นไปอาจมีเลือดปน หรือมีเสมหะสีเหลืองปนเขียว เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุใน 1 เดือน รู้สึกอ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย เหงื่อมักออกมากในตอนกลางคืน มีไข้ต่ำโดยมักเป็นช่วงบ่ายๆ และมีอาการบวมที่คอ ใต้แขน หรือขาหนีบ เป็นต้น

 

อาการวัณโรค

       โดยทั่วไปอาการของวัณโรคจะยังไม่แสดงอาการใดๆ แต่สามารถแบ่งอาการออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแฝง (Latent TB) และ ระยะแสดงอาการ (Active TB) โดยเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้ว เชื้อจะพัฒนาไปอย่างช้าๆ อาจต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ไปจนถึงหลายปีกว่าจะแสดงอาการให้เห็น

ระยะแฝง (Latent TB) เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้วจะไม่มีอาการแสดงให้เห็น ไม่ทำปฏิกิริยาใดๆต่อร่างกาย และจะยังไม่สามารถแพร่เชื้อไปสู่คนใกล้ชิด เนื่องจากเชื้อไม่ได้รับการกระตุ้น แต่ร่างกายของเรายังคงมีเชื้อแบคทีเรียอยู่ และสามารถทำให้เกิดอาการจนเข้าสู่ระยะแสดงอาการได้ เมื่อผู้ป่วยมีการตรวจพบเจอเชื้อในช่วงระยะแฝง แพทย์อาจให้เข้ารับการรักษาและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ รวมถึงลดความเสี่ยงที่อาการจะเข้าสู่ระยะแสดงอาการได้

ระยะแสดงอาการ (Active TB) เป็นระยะที่เชื้อได้รับการกระตุ้นจนเกิดอาการต่างๆ จากร่างกายที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น มีภาวะทุพโภชนาการ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ผู้ที่กำลังทานยากดภูมิ หรือเป็นผู้ที่อยู่ในช่วงกำลังล้างไตอยู่ ผู้ที่ติดยาเสพติด และเป็นพิษสุราเรื้อรัง เป็นต้น โดยอาการในระยะนี้จะปรากฏให้เห็นได้ชัด เช่น มีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกเจ็บเวลาหายใจหรือไอ อ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น มีเหงื่อออกในเวลากลางคืน น้ำหนักลดลง และความอยากอาหารลดลง

 

วินิจฉัยกับแพทย์

       หากวัณโรคอยู่ในระยะแสดงอาการแล้วนั้น เราสามารถวินิจฉัยด้วยตัวเองเบื้องต้นได้และควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ใจอีกที แต่ถ้าหากเป็นในระยะแฝงจะไม่มีการแสดงอาการใดๆออกมาเลยจึงจำเป็นต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยให้ โดยในเบื้องต้นแพทย์จะใช้วิธีการตรวจทางผิวหนังเพื่อดูระดับภูมิคุ้มกัน หรือทำ Tuberculin Test โดยเป็นการเอาโปรตีนจากเชื้อมาจิ้มผิวแล้วดูปฏิกิริยาเอา ถ้ามันขึ้นก็มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นวัณโรค และหากมีความผิดปกติแพทย์จะ สั่งตรวจอื่นๆเพิ่มเติม วิธีที่แพทย์นิยมใช้ในการตรวจวัณโรค ได้แก่ การตรวจเลือด การเอกซเรย์ การส่องกล้อง การตรวจชิ้นเนื้อ การตรวจน้ำไขสันหลัง การย้อมสีวัณโรคจากเสมหะ การเพาะเชื้อวัณโรคจากเสมหะ เป็นต้น และถ้าแพทย์สงสัยว่าจะมีอาการของวัณโรคแพทย์จะเก็บเสมหะของผู้ป่วยเพื่อตรวจยืนยันโรค และใช้ตัวอย่างเสมหะในการทดสอบเพื่อหายาที่สามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ภาวะแทรกซ้อนเมื่อเป็นวัณโรค

       การรักษาที่ล่าช้าเกินไป หรือการรักษาที่ไม่ต่อเนื่องของโรควัณโรคนั้นสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนมีทั้งอาการที่ไม่รุนแรง และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็ว่าได้ โดยมักพบในผู้ป่วยวัณโรค คือ มีการไอเป็นเลือด มีอาการปวดหลัง มีฝีในปอด ภาวะน้ำในช่องหุ้มปอด ข้อต่อกระดูกอักเสบ หรือรุนแรงถึงขั้นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคหัวใจ ปัญหาเกี่ยวกับตับและไต ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการที่เชื้อวัณโรคกระจายไปที่อวัยวะอื่นๆ

 

วัณโรคแค่ป้องกันก็ไม่เป็น                                                                                                       

ใช้ชีวิตให้ห่างไกลวัณโรคเพียงแค่รู้จักดูแลสุขภาพ และป้องกันตัวเองให้ห่างจากเชื้อโรคได้ง่ายๆเพียงแค่

  1. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เนื่องจากภูมิคุ้มกันจะช่วยกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

  2. ทำอากาศภายในบ้าน หรืออาคารให้ถ่ายเทสะดวก มีแสงแดดส่องถึงเพื่อลดปริมาณเชื้อโรค

  3. พยายามอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก มีแสงแดดส่องถึงจะช่วยให้เชื้อโรคเบาบางลง เนื่องจากเชื้อโรคจะไม่ทนต่อแสงแดด แต่จะอยู่ได้นานมากในอุณหภูมิห้อง

  4. ใส่หน้ากากอนามัยหากต้องไปอยู่ในสถานที่ที่แออัด เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย

  5. รับการฉีดวัคซีน BCG ซึ่งวัคซีนนี้เด็กแรกเกิดทุกคนจะได้รับการฉีด และผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่เสี่ยงติดเชื้อ โดยวัคซีนนี้มีระยะเวลาในการป้องกันนานถึง 10 - 15 ปี 

และถ้าหากมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นวัณโรคก็สามารถดูแลรักษาได้ โดย

  1. ผู้ป่วยต้องใช้ผ้าปิดจมูกเวลาไอหรือจามซึ่งเป็นการเก็บละอองเสมหะไว้ได้เกือบหมด เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อสู่คนใกล้ชิด และเปลี่ยนผ้าปิดจมูกบ่อยๆ เนื่องจากผ้าปิดจมูกก็เป็นพาหะได้เช่นกัน

  2. หากต้องออกไปข้างนอกผู้ป่วยควรสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเพื่อไม่ให้ไปแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น

  3. ควรสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาครบถ้วนอย่างต่อเนื่องจะสามารถช่วยให้แพร่เชื้อน้อยลงเมื่อกินยาครบ 2  สัปดาห์ และต้องกินยาให้ครบตามแพทย์สั่งจนครบกำหนด

  4. จัดบ้านให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดส่องถึงและหมั่นทำความสะอาดเครื่องนอน

  5. งดดื่มแอลกอฮอลล์ และสิ่งเสพติดทุกชนิด

  6. ในระยะ 2 เดือนแรกหลังเริ่มรักษาควรนอนแยกห้องกับคนในครอบครัว และการใช้สิ่งของ การทานอาหาร รวมถึงการล้างถ้วยชาม การซักผ้าต่างๆก็ควรแยกจากกัน

☘️ มุมสาระน่ารู้ TardHealth info

ความรู้เพื่อสุขภาพ รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์ By TaradHealth

ข้อมูลเพิ่มเติม»

เรื่องที่คุณอาจสนใจ