รู้ไว้สักนิด! เพื่อเตรียมรับมือ “ไข้หวัดใหญ่”

 

 

รู้ไว้สักนิด! เพื่อเตรียมรับมือ “ไข้หวัดใหญ่”

ยังไม่ทันจะถึงฤดูฝนก็ได้ยินมาว่าไข้หวัดใหญ่กลับมาให้เราต้องเตรียมตัวรับมือกันซะแล้ว เพราะเมื่อไม่นานมานี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือนให้ประชาชนทั่วโลกเตรียมรับมือกับไข้หวัดใหญ่ที่คาดว่าจะมีผู้ที่ติดเชื้อกว่า พันล้านคนเลยทีเดียว ซึ่งไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่คนทุกเพศ ทุกวัยสามารถติดเชื้อได้ง่ายและอาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆหรือมีอาการแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ถ้าไม่รู้วิธีรักษาและป้องกัน

สาเหตุการเกิดไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ซึ่งเชื้อไข้หวัดใหญ่มีอยู่ 3 ชนิด เรียกว่า ชนิด A, B และ C แต่ละชนิดยังแบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยๆไปอีกมากมาย แต่สามารถแยกไข้หวัดใหญ่ในคนได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ “ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล” และ “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่” ซึ่งเป็นต้นเหตุของการระบาดไปทั่วโลก โดยเชื้อไวรัสนี้จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย โดยปะปนหรือแพร่กระจายในอากาศ ซึ่งติดต่อด้วยการไอ จามหรือการสัมผัสสิ่งของ เครื่องใช้ที่มีเชื้อโรค

สำหรับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ชนิด H1N1 ที่กลายพันธุ์จากเชื้อไวรัสตัวเดิมทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกันและติดเชื้อในวงกว้าง อาการที่เป็นจะรุนแรงกว่า หรือทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในกลุ่มเสี่ยงอย่างคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ส่วนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบกันมานานแล้ว แต่เชื้อโรคมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมได้ตลอดเวลา ทำให้คนที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ไปแล้วสามารถป่วยได้อีก อาการจะไม่รุนแรง เนื่องจากเรามีภูมิคุ้มกันอยู่บ้าง

อาการของไข้หวัดใหญ่

  1.      ช่วงของระยะฟักตัว 1-4 วัน เป็นช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ไม่มีโรคแทรกซ้อน แต่จะมีอาการอ่อนเพลียอย่างเฉียบพลัน หายใจหอบ เบื่ออาหาร ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดบริเวณรอบดวงตา ตาแดง ปวดแขนปวดขา มีอาการเจ็บคอ คอแดง มีน้ำมูกหรือเสมหะ ตัวร้อน มีไข้สูงถึง 39 - 40 องศาเซลเซียส และมักมีอาการอาเจียนหรือท้องเสียร่วมด้วย โดยจะเป็นไข้ประมาณ 2 - 4 วัน แล้วไข้จะค่อยๆลดลง แต่อาการคัดจมูกและแสบคอยังคงมีอยู่ ซึ่งอาจจะหายได้ในช่วงเวลาประมาณ 1- 2 สัปดาห์

  2. ช่วงที่ไข้หวัดใหญ่มีอาการรุนแรงและมักเกิดโรคแทรกซ้อน จะพบการอักเสบของเยื้อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก หรือบางครั้งมีอาการหัวใจวาย อาจพบอาการเยื้อหุ้มสมองหรือสมองอักเสบ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยปวดศีรษะอย่างมาก และมีอาการซึมลงตามมา บางรายอาจมีอาการระบบทางเดินหายใจผิดปกติ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดบวม โดยผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอก หรือเจ็บหน้าอกรุนแรงและเหนื่อยง่ายร่วมด้วย

หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน เช่น ไข้สูงมากจนเพ้อ ซึม หายใจหอบ หายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก หน้ามืด  มีอาการขาดน้ำและดื่มน้ำไม่เพียงพอ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อน หรืออาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่นๆ

การติดต่อ

      - ระยะเวลาที่ติดต่อ คือ 1 วันก่อนเกิดอาการและ 5 วันหลังจากมีอาการ สำหรับในเด็กอาจจะแพร่เชื้อ 6 วันก่อนมีอาการ และแพร่เชื้อได้นานถึง 10 วัน

      - เชื้อสามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งโดยการหายใจ ไอ หรือจาม ซึ่งจะได้รับน้ำมูก หรือเสมหะของผู้ป่วยโดยเชื้อจะผ่านเข้าทางเยื่อบุตา จมูก และปาก

      - การที่ไปสัมผัสสิ่งที่ปนเชื้อโรค เช่น ผ้าเช็ดหน้า ช้อน แก้วน้ำ การจูบ เป็นต้น

      - การที่มือไปสัมผัสเชื้อแล้วขยี้ตา หรือสัมผัสกับปาก

การป้องกันไข้หวัดใหญ่

      - หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ ทั้งผู้ที่ป่วยและไม่ป่วย

      - ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อน ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น

      - ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย ไม่อยู่ในที่ที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือถ้าจำเป็นควรปิดปาก ปิดจมูกด้วยหน้ากากอนามัย

      - รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เน้นพวกผักผลไม้  กินอาหารปรุงสุกใหม่ๆ

       - นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6 - 8 ชั่วโมง/วัน

       - ดื่มน้ำสะอาดและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

       - ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

สามารถสั่งซื้อหรือสอบข้อมูลเกี่ยวผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย เพื่อสุขภาพ
ได้ที่ www.taradhealth.com โทร 062-595-3399 , 085-688-7890
ID Line: @taradhealth
Facebook:
TaradHealth

☘️ มุมสาระน่ารู้ TardHealth info

ความรู้เพื่อสุขภาพ รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์ By TaradHealth

ข้อมูลเพิ่มเติม»

เรื่องที่คุณอาจสนใจ