กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือหลบเชื้อ H.pylori เลี่ยงมะเร็ง

กินร้อน ช้อนกลาง_1040x1040

 

จากเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่ป่วยด้วย โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ทั้งๆที่เธอนั้นออกกำลังกายเป็นประจำและร่างกายแข็งแรงเหมือนคนทั่วๆไป และขณะที่ป่วยเธอก็ยังออกกำลังกายเพื่อหวังว่าจะดีขึ้นแต่เธอก็หนีไม่พ้นโรคร้ายที่ได้คร่าชีวิตเธอไปเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมีหลายปัจจัยมากแม้จะออกกำลังกายหรือร่างกายแข็งแรงก็สามารถติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งได้จากการไม่ใช้ช้อนกลาง ไม่ล้างมือ รวมถึงอีกหลายสาเหตุ เเว่นใสเลยจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับเชื้อแบคทีเรียและปัจจัยเสี่ยงต่างๆของมะเร็งชนิดนี้กัน

 

กระเพาะอาหารกับโรคมะเร็ง

       เกิดจากเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารมีการแบ่งจำนวนมากขึ้นอย่างผิดปกติจนเป็นเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นในเยื่อบุผิวด้านในกระเพาะอาหาร หรือเรียกว่าเป็น “มะเร็งกระเพาะอาหาร” นั่นเอง โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของกระเพาะอาหาร และยังสามารถกระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นได้ด้วย ซึ่งมะเร็งกระเพาะอาหารส่วนใหญ่เกิดจากหลายสาเหตุ แต่การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori (หรือ H.pylori) ที่มาจากสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่อาจทำให้เกิดและไม่เกิดโรคมะเร็งก็ได้ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะอาศัยอยู่ที่เยื่อบุกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดการระคายเคืองเรื้อรังพร้อมกับการรับสารก่อมะเร็งที่คนป่วยภูมิคุ้มกันไม่ดีไม่สามารถกำจัดเซลล์กลายพันธุ์ได้จนทำให้เกิดเป็นมะเร็งในที่สุด

 

เชื้อ H.pylori คือ?

        Helicobacter pylori หรือ H.pylori เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะอาศัยอยู่ในเยื่อบุกระเพาะอาหารจึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆตามมาได้ โดยติดต่อระหว่างคนสู่คนผ่านการทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย H.pylori แล้วเชื้อจะเข้าไปปล่อยเอนไซม์และสารพิษต่างๆ ทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอ่อนแอลง ซึ่งส่งผลทางตรงและทางอ้อมต่อกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น จนเป็นเหตุให้กรดในกระเพาะอาหารที่มีความเข้มข้นรวมทั้งน้ำย่อยทำลายเนื้อเยื่อกระเพาะ และลำไส้เล็กรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนเกิดการอักเสบ เกิดแผลในกระเพาะ และการระคายเคืองเรื้อรังขึ้น

 

ปัจจัยเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร

สาเหตุของการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารยังไม่รู้แน่ชัดว่าเกิดมาจากสาเหตุใด แต่ปัจจัยที่จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคนั้นมีหลายอย่างด้วยกัน คือ

  • อายุ ผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป หรือยิ่งอายุมากขึ้นโอกาสเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารก็มากขึ้นเช่นกัน

  • พันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมาก่อน เราก็มีโอกาสเป็นเหมือนกัน

  • เพศ โดยผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิงถึง 2 เท่าเลย

  • อาหาร อย่างอาหารหมักดอง ตากเค็ม รมควัน ปิ้งย่างจะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะอาหารได้มากขึ้น

  • สิ่งแวดล้อม หากเราสัมผัสกับฝุ่นและสารเคมีบางชนิดเป็นเวลานานก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น

  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ไม่ค่อยทานผักผลไม้ ไม่ทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ และเมื่อมีการทานอาหารร่วมกันแล้วไม่ใช้ช้อนกลาง

  • ติดเชื้อแบคทีเรีย H.pylori จากสิ่งแวดล้อมเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดการอักเสบ ระคายเคือง และเกิดแผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ด้วย

   

สาเหตุการติดเชื้อ H.pylori

       การจะติดเชื้อ H.pylori ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่มีข้อบ่งชี้ว่าเกิดจากการสัมผัสเชื้อแล้วนำเข้าปากโดยไม่รู้ตัว รวมทั้งการดื่มน้ำและการทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป โดยการกินอาหารร่วมกันแบบไม่ใช้ช้อนกลาง ไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนทานอาหาร ดื่มน้ำจากหลอดหรือแก้วเดียวกันก็มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อแบคทีเรียนี้ต่อๆกันไปได้ และจะยิ่งมีความเสี่ยงสูงเมื่อต้องอาศัยร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ H.pylori หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่แออัด ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างไม่รู้ตัวได้ง่ายมาก โดยการติดเชื้อ H.pylori จะเพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น 3 – 5 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ติดเชื้อดังกล่าว ซึ่งเชื้อนี้อาจทำให้เป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารหรืออาจไม่เป็นก็ได้

   

อาการที่จะพบเมื่อป่วย

        ระยะแรกของมะเร็งกระเพาะอาหารจะไม่ค่อยแสดงอาการของโรค แต่เมื่อระยะของโรคพัฒนาขึ้นอาจมีอาการที่ไม่รุนแรงแต่จะมีอาการคล้ายกับโรคอื่นๆ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคไวรัสลงกระเพาะอาหาร จนอาหารไม่ย่อย เรอบ่อย แสบร้อนกลางอก แน่นท้องหลังทานอาหาร ปวดท้อง กลืนอาหารลำบาก เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน โลหิตจาง เป็นต้น ซึ่งถ้ามีอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะหากตรวจพบเร็วจะทำการรักษาได้ง่ายกว่า

         แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการลุกลามมากขึ้นจะมีอาการรู้สึกไม่สบายท้องโดยเฉพาะช่องท้องบริเวณส่วนบนและตรงกลาง มีเลือดปนในอุจจาระ อาเจียนโดยอาจมีเลือดปนได้ น้ำหนักตัวลดลง ปวดท้องหรือท้องอืดหลังทานอาหาร ปวดหรือจุกที่ลิ้นปี่ รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลียจากโลหิตจาง ดีซ่านโดยมีอาการผิวและตาเหลือง 

   

ตรวจหามะเร็งกระเพาะอาหาร

  • ซักประวัติเบื้องต้น และถามประวัติครอบครัวว่าเคยเป็นมะเร็งหรือไม่ และตรวจร่างกายเพื่อหาความผิดปกติ เช่น ตรวจทวารหนัก ตรวจอาการที่แสดงถึงมะเร็งกระเพาะอาหาร ตรวจต่อมน้ำเหลือง ตรวจท้อง

  • วินิจฉัยด้วยการตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนต้น เป็นการตรวจโดยให้กลืนน้ำที่ผสมด้วยแป้งแบเรียม(แป้งทึบแสง) ให้เข้าไปเคลือบกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก และเอกซเรย์เพื่อหาเนื้อร้ายและความผิดปกติอื่นๆในช่องท้อง

  • ส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร ส่องเข้าไปทางปากเพื่อมองภาพกระเพาะอาหาร ถ้าพบสิ่งผิดปกติจะตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีดีที่สุดในการวินิจฉัยโรคมะเร็ง

  • ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ทำหลังการวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหาร เพื่อประเมินและกำหนดระยะของมะเร็งว่าถึงระยะไหนแล้ว

  • ทดสอบอื่นๆ เพื่อตรวจความรุนแรงของมะเร็ง เช่น การสแกนกระดูก ตรวจความเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี

     

ป้องกันโรคร้าย

เมื่อยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ดังนั้น การป้องกันโรคมะเร็งกระเพาะอาหารจึงไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงและลดโอกาสในการเกิดโรคได้ โดย

  • เมื่อต้องทานอาหารร่วมกันควรใช้ช้อนกลาง และล้างมือก่อนทานอาหารทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจปนเปื้อนมาในอาหารโดยที่เราไม่รู้ตัว

  • ควรทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ

  • ทานผัก ผลไม้เพื่อช่วยเพิ่มเส้นใยอาหารและวิตามินให้กับร่างกาย

  • เลี่ยงการทานอาหารประเภทหมักดอง ตากเค็ม หรืออาหารรสเค็มจัด อาหารรมควัน

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

  • ผ่อนคลายอารมณ์ ลดความกังวล และความเครียด

  • ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งชนิดอื่นๆ

  • เลี่ยงการอยู่ในพื้นที่หรือบริเวณที่ต้องเจอฝุ่นหรือมลภาวะ รวมถึงสารเคมีเป็นเวลานาน

  • ควรปรึกษาแพทย์หากพบว่ามีความเสี่ยงของการเกิดโรคเพื่อป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ

 

☘️ มุมสาระน่ารู้ TardHealth info

ความรู้เพื่อสุขภาพ รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์ By TaradHealth

ข้อมูลเพิ่มเติม»

เรื่องที่คุณอาจสนใจ